มนุษย์อาจจะเข้าใกล้การเป็นไซบอร์ก(Cyborg)ไปอีกขั้น เมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถผสานเทคโนโลยีต่างๆเข้ากับอุปกรณ์บางเฉียบอย่างคอนแทคเลนส์ได้สำเร็จ
ในปัจจุบันผู้ป่วยโรคเบาหวานยังต้องได้รับการเจาะเลือดเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดหรืออาจใช้การฝังเซนเซอร์ใต้ผิวหนังซึ่งเป็นวิธีที่ไม่สะดวกสบายนัก ทำให้นักวิจัยจากประเทศเกาหลีใต้เกิดไอเดียในการวัดระดับน้ำตาลผ่าน”น้ำตา”แบบติดตามตัวผู้ป่วยและหากน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นก็จะแสดงผลให้เห็นได้ทันทีด้วยสมาร์ตคอนแทคเลนส์(Smart Contact Lens)
อุปกรณ์ต้นแบบนี้ถูกสร้างโดยปาร์ค จีฮุน(Jihun Park) นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุลซาน(Ulsan National Institute of Science and Technology) โดยเขาทำการทดลองใช้งานกับสัตว์ทดลองอย่างกระต่ายและไม่พบผลข้างเคียงทางลบใดๆจึงนำเสนองานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ลงในวารสาร Science Advances ซึ่งเป็นวารสารด้านวิชาการที่มีความน่าเชื่อถือสูง
“เราพัฒนาสมาร์ตคอนแทคเลนส์ที่สามารถวัดระดับกลูโคสในน้ำตาเพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน “ทีมวิจัยอธิบาย
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สนใจจะพัฒนาเทคโนโลยีนี้เพราะในปี ค.ศ. 2014 บริษัทกูเกิ้ลเองก็เคยประกาศว่ากำลังพัฒนาคอนแทคเลนส์เพื่อวัดระดับกลูโคสเช่นกัน
ตัวคอนแทคเลนส์ต้นแบบนี้ประกอบไปด้วยตัววัดระดับน้ำตาลกลูโคส(Glucose sensor),ไฟ LED สีเขียวขนาดเล็ก, ตัวเรียงกระแส(Rectifier) และเสาสัญญาณ(Antenna) เชื่อมต่อสัญญาณกันด้วยสายไฟขนาดเล็กมาก โดยเสาสัญญาณและตัวเรียงกระแสจะรับสัญญาณคลื่นวิทยุจากตัวแปลงสัญญาณ(Transmitter) แล้วเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าที่เพียงพอต่อการทำงานส่องสว่างของ LED และตัววัดระดับกลูโคส
งานวิจัยในขณะนี้ออกแบบมาให้หลอด LED สีเขียวหันด้านเปล่งแสงออกจากดวงตาเพื่อเป็นสัญญาณเตือนว่าถ้าหากระดับน้ำตาลกลูโคสสูงขึ้นถึงจุดเสี่ยงแล้ว ไฟจะดับลงทันที นั่นหมายความว่า ผู้ป่วยจะต้องคอยส่องกระจกบ่อยๆหรือให้คนอื่นช่วยเตือน ซึ่งนี่อาจเป็นข้อเสียในแง่การใช้งานได้ยาก (ทีมวิจัยได้รับคำแนะนำว่าควรปรับการแสดงผลให้สลับกันได้จะดีกว่าคือในภาวะที่ระดับน้ำตาลไม่สูงเกินไปก็ให้หลอด LED สีเขียวปิดการทดงาน แต่เมื่อน้ำตาลสูงเกินไปค่อยให้หลอดไฟส่องสว่าง)
ความน่าทึ่งคือ อุปกรณ์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีความหนาแค่ 1/100 ของความหนาคอนแทคเลนส์ โดยพวกมันถูกจัดวางเรียงตามแนวเส้นรอบรูปวงกลมของคอนแทคเลนส์ซึ่งอยู่ห่างจากรูม่านตา(Pupil) ทำให้เครื่องมือในการแสดงผลเหล่านี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะบอกว่าทดลองในกระต่ายแล้วได้ผลดี แต่จุดที่ต้องระวังคือ ทีมนักวิจัยยังไม่ได้ทดลองใช้สมาร์ตคอนแทคเลนส์นี้ในมนุษย์ ประเด็นหนึ่งที่ต้องคิดต่อคือ การวัดระดับน้ำตาลกลูโคสนี้ใช้เอนไซม์กลูโคสออกซิเดส (เอนไซม์ที่เร่งปฏิกิริยาออกซิเดชันของน้ำตาลกลูโคสด้วยออกซิเจน)ซึ่งทำให้เกิดไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่อาจทำให้ระคายเคืองต่อดวงตาได้
ถึงแม้งานวิจัยนี้จะยังไม่ได้ถูกวางจำหน่ายในท้องตลาด แต่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าหากปรับเปลี่ยนและพัฒนาต่อไป มันน่าจะสามารถใช้งานเป็นอย่างดีและในอนาคตอันใกล้นี้ สมาร์ตคอนแทคเลนส์น่าจะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่จะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราอย่างแน่นอน
ส่วนจะมีฟังก์ชันพิเศษอื่นๆอะไรเพิ่มเติมเข้ามาบ้าง
เราทำได้สองอย่างคือ
รอชม หรือไม่ก็มองหาไอเดียใหม่ๆแล้วพยายามสร้างสรรค์ให้กลายเป็นจริง
อ้างอิง
https://www.sciencealert.com/smart-flexible-contact-lens-monitors-glucose-real-time-diabetes
http://www.iflscience.com/technology/soft-smart-contact-lenses-can-monitor-glucose-levels-in-your-tears/
http://advances.sciencemag.org/content/4/1/eaap9841