หุ่นยนต์มาถึงโรงเรียนเราแล้ว!
โครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ฯ ผลักดันแนวคิด “ยกโรงงานสู่โรงเรียน” สนับสนุนหุ่นยนต์ และโปรเเกรมจำลองเสมือนอยู่ในโรงงานจริงให้แก่วิทยาลัยเทคนิค 28 แห่งทั่วประเทศไทย
ความท้าทายที่สถาบันการศึกษาอาชีวะ และวิทยาลัยเทคนิคจะต้องเผชิญ คือการผลิตบุคลากรให้มีทักษะที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังต้องมีทักษะที่จำเป็นที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานจริงในภาคอุตสาหกรรมได้ โดยเฉพาะการสั่งการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่มีการคาดการณ์ว่าโรงงานอุตสาหกรรมจะมีการนำ หุ่นยนต์มาใช้เพิ่มขึ้นถึง 40,000 ตัวในอนาคต ขณะที่วิทยาลัยเทคนิคส่วนใหญ่ยังไม่มีหุ่นยนต์สำหรับฝึกปฏิบัติ หรือ มีก็เป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัย ส่งผลให้นักศึกษาอาชีวะส่วนใหญ่ไม่เคยสัมผัสหุ่นยนต์ที่ใช้จริงในโรงงานยุคใหม่ เมื่อเรียนจบไป จึงไม่สามารถทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ที่เป็นหัวใจของระบบผลิตได้
“นักเรียนมีทักษะและความรู้ในการทำงานในโรงงาน แต่ก็ยังขาดความมั่นใจ พวกเขาก้าวเข้าสู่โรงงาน โดยที่ยังไม่เคยได้สัมผัสหุ่นยนต์ตัวจริงเลยด้วยซ้ำ” อาจารย์วทัญญู ห้าวหาญ จากวิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี กล่าว
โครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาและกำลังคนในภาคอาชีวะ จึงผลักดันแนวคิด “ยกโรงงานสู่โรงเรียน” ด้วยการสนับสนุนหุ่นยนต์ ABB IRB 120 จากประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นการนำอุปกรณ์การเรียนรู้จำลองมาตรฐานเดียวกับโรงงานในกลุ่ม S-Curve มาใช้ เพื่อให้นักศึกษาฝึกฝนทักษะการใช้งานหุ่นยนต์แขนกล และการใช้โปรเเกรมจำลองเสมือนอยู่ในโรงงานจริง โดยนำร่องใช้กับ 28 สถาบันการศึกษาในสาขาช่างเทคนิคทั่วประเทศ เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้อย่างทั่วถึง
และเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในภาคอาชีวะอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ฯ ยังได้จัดทำแผนการสอนร่วมกับมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือที่มีกระบวนการสอนแบบ Applied Learning โดยไดุ้่งเน้นการเรียนรู้แบบ Problem-based ตลอดจนทักษะในศตวรรษที่ 21 ด้านการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การแก้ไขปัญหา การสร้างสรรค์ และการทำงานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมทั้งจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับคุณครูช่าง 78 คนในเครือข่ายในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มความรู้ในการนำหุ่นยนต์ไปประยุกต์ใช้กับการสอนในวิชาต่างๆ โดยหลักสูตรได้กำหนดให้ผู้เรียนต้องสามารถบังคับหุ่นยนต์ตามคำสั่งได้ เช่น การหยิบจับ วาดรูป และการจัดเรียง ซึ่งเป็นการให้นักเรียนได้ปลดปล่อยศักยภาพของตนเองไปกับประสบการณ์กับหุ่นยนต์
“บางครั้งนักเรียนก็บ่นว่า จะเอาสิ่งที่เรียนไปใช้ทำอะไร แต่เมื่อเราปรับหลักสูตรโดยนำปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในโรงงานมาให้พวกเขาได้ทดลองแก้ไข พวกเขาก็จะมองเห็นภาพว่าจะสามารถนำความรู้นั้นไปปรับใช้ได้ในอาชีพของเขาในอนาคตได้อย่างไร”
“มันจะเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกที่โรงเรียนของเรามี ซึ่งครูและนักเรียนทุกคนที่นี่ตื่นเต้นกันมาก” อาจารย์วทัญญูกล่าว
สามารถติดตามข่าวสารของโครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ฉบับเต็มได้จากที่นี่ค่ะ