ทีม Young Makers มุ่งสร้างสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมสีเขียว
เพื่อเข้าร่วมงาน Maker Faire Bangkok 2019
บ่อยครั้งแค่ไหนที่คุณซื้อเครื่องดื่มแก้วโปรดจากร้านค้าแล้วได้รับแก้วพลาสติก ที่มาพร้อมหลอดพลาสติก และใส่ในถุงพลาสติก พฤติกรรมชาวไทยโดยเฉลี่ยใช้ถุงพลาสติกราว 100 ใบต่อคนต่อปี ส่งผลให้มีปริมาณขยะถุงพลาสติกกว่า 7 หมื่นล้านใบต่อปีทั่วทั้งประเทศ ทั้งนี้จากปริมาณขยะมูลฝอยกว่า 27 ล้านตันที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อปี 2559 มีปริมาณขยะน้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่ได้รับการบริหารจัดการ หรือรีไซเคิลอย่างเหมาะสม และมีขยะน้อยกว่าหนึ่งในสี่เท่านั้นที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักสากล
ผู้คนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกต่างรับรู้ถึงผลกระทบของการจัดการขยะที่ไม่เหมาะสมนี้ แม่นำ้เจ้าพระยาในกรุงเทพฯ นับเป็นหนึ่งในแม่นำ้ที่มีสภาพเน่าเสียมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและถูกกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จัดให้อยู่ในสภาวะ “วิกฤติ” สำหรับจังหวัดตามแนวชายฝั่งขยะปริมาณกว่าหนึ่งล้านตันได้ถูกนำไปทิ้งในทะเลทุกปี ซึ่งในจำนวนนี้ประกอบด้วยขยะถุงพลาสติกร้อยละ 15 หลอดพลาสติกร้อยละ 7 และก้นบุหรี่ร้อยละ 5 โดยประเทศไทย จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ถือเป็นเพียง 5 ประเทศที่ร่วมกันสร้างขยะพลาสติก จำนวนกว่าร้อยละ 60 จากขยะพลาสติกทั้งหมดในมหาสมุทรทั่วโลก
สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะหนักขึ้นเรื่อยๆ นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์ว่าปริมาณขยะในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 600,000 ตันต่อปี จากการเติบโตของจำนวนประชากรและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม สังคมไทยต้องปลูกจิตสำนึกให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในวงกว้าง ควบคู่ไปกับการสำรวจและค้นหาระบบการจัดการขยะที่ดียิ่งขึ้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ให้คงอยู่ถึงคนรุ่นต่อไป
นับเป็นโชคดีของประเทศไทย ที่คนรุ่นใหม่มองปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม เป็นความท้าทายและกระตือรือร้นที่จะเข้ามาแก้ไข โดยในปีนี้ โครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest สุดยอดงานประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับเมกเกอร์รุ่นใหม่ ในหัวข้อ “Green Innovation นวัตกรรมโลกสีเขียว” นักเรียนได้สร้างสรรค์ผลงานมากมาย อาทิ ต้นแบบหุ่นยนต์ที่จูงใจให้ผู้บริโภคหันมารีไซเคิลด้วยการแลกข้าวของที่ไม่ใช้แล้วเป็นเงิน ถังขยะที่ช่วยให้การเก็บขยะของทางภาครัฐเป็นเรื่องง่ายขึ้นด้วยการทำงานของเซ็นเซอร์ การใช้วัสดุอันลำ้หน้าในการตรวจจับก๊าซพิษ และการใช้อุปกรณ์ไล่หนูด้วยเสียงคลื่นความถี่สูง เพื่อส่งเสริมสาธารณสุขที่ดีของชุมชน
จากหลายร้อยโครงการสิ่งประดิษฐ์ของทั้งนักเรียนและนักศึกษาอาชีวะทั่วประเทศ เราได้คัดเลือกนักเรียนและนักศึกษาทั้งหมด 60 ทีมมานำเสนอไอเดียต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่ง 20 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจะได้รับเงินจำนวน 30,000 บาท เพื่อนำไปสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์นั้นๆ ให้เกิดขึ้นจริง โดยช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ผู้เข้าประกวดทั้ง 20 ทีมได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ศึกษาสิ่งที่พวกเขาควรจะรู้ ภายใต้การแนะนำของครูอาจารย์ที่โรงเรียน ผู้ให้คำปรึกษาจากโครงการและข้อมูลความรู้จากโลกออนไลน์เพื่อต่อยอดชิ้นงานสิ่งประดิษฐ์ให้ดีที่สุด
นายพันธกานต์ นันทิยา นักเรียนหลักสูตรเตรียมสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (RMUTL) ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวในภาพยนตร์จากสวีเดน ที่ขยะจะถูกรับซื้อและนำไปสร้างเป็นกระแสไฟฟ้า “ถ้าหากเราสามารถคัดแยกขยะอย่างเหมาะสม ประเทศเราจะสามารถสร้างรายได้จากการขายขยะหรือไม่” เขากล่าวด้วยความสงสัย
ผู้เข้าประกวดบางทีมได้นำศักยภาพของเทคโนโลยีใหม่ เข้ามาช่วยตอบโจทย์ความท้าทายในการคัดแยกขยะ นายรวิน อัสสะบำรุงรัตน์ และนายปฎิพล ติยะจามร นักเรียนชั้นมัธยมต้นจากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ในจังหวัดระยอง, เขียนในรายงานโครงการว่า “ปัจจุบันนี้การพัฒนาการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และการประมวลผลภาพด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer Vision) ช่วยยกระดับศักยภาพของหุ่นยนต์ในการคัดแยกขยะให้มีประสิทธิภาพไปอีกขั้น อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์ไม่สามารถเทียบชั้นหุ่นยนต์ได้ในเรื่องของความแม่นยำ ความคงทน และความคงเส้นคงวา”
ด.ช. กรณ์กวิน ปันมะ จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย กดปุ่มเปิดสวิตช์ที่ข้างถังขยะสีเทา “นี่คือผลงานถังขยะไอโอที หรือถังขยะที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้” เขากล่าวอย่างภาคภูมิใจ พร้อมนำเสนอการทำงานของเซ็นเซอร์ว่าสามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ของเขาได้ผ่า แอพพลิเคชั่นไลน์
นายกันตพัฒน์ อนันตเรืองเลิศ จากศูนย์การเรียนรู้และเสริมทักษะ RoboMind ทีมเจ้าของผลงานการสร้างสรรค์ถังขยะอัจฉริยะ ที่สามารถย่อยสลายขยะได้ในราคาย่อมเยา กล่าวถึงหนึ่งในความท้าทายคือการตั้งโปรแกรมการทำงานของมอเตอร์ ให้สามารถเพิ่มการระบายอากาศเพื่อช่วยให้จุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น เพื่อนในทีมอย่างนายปัณณวิชญ์ ระมิงค์วงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ถังขยะย่อยสลายของพวกเราราคาถูกกว่าเครื่องที่คล้ายๆ กันในท้องตลาดกว่า 6 เท่า” ซึ่งราคาที่จับต้องได้นี้ จะช่วยให้เข้าถึงผู้คนมากขึ้น และสามารถนำไปใช้ได้จริง
ก่อนจะถึงช่วงโค้งสุดท้าย ที่บรรดานักเรียนนักศึกษาได้เตรียมนำผลงานสิ่งประดิษฐ์กลับมานำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการที่งาน Maker Faire Bangkok 2562 ในวันที่ 19–20 มกราคมที่จะถึงนี้ เหล่านักเรียนได้กล่าวถึงอุปสรรคที่พวกเขาได้เผชิญ รวมทั้งบทเรียนที่ได้รับ นางสาวธนัชญา สันดอนทอง และ นางสาววณิชญา ธรรมปัญญา นักเรียนจากหลักสูตรเตรียมสถาปัตยกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (RMUTL) ได้ไปที่ห้องปฏิบัติการเครื่องกลของที่มหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก เรียนรู้การเชื่อมเหล็ก เพื่อที่จะสร้างผลงานนวัตกรรมของพวกเขาให้เกิดขึ้นจริง
นางสาวธนัชญา กล่าวว่า “โครงการนี้ช่วยเปิดโลกให้หนูได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ค่อนข้างแตกต่างจากในห้องเรียน หนูไม่ได้มองถึงรางวัล แต่คิดว่ามันเป็นประสบการณ์ชีวิตครั้งใหม่ที่จะเปิดประตูสู่งานสร้างสรรค์ในอนาคตได้”
และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน ทีมผู้เข้าแข่งขันต้องประยุกต์ความรู้ที่มีอยู่เดิมเข้ากับแนวคิดใหม่ๆ สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ที่สามารถสร้างความประทับใจให้กับคณะผู้ตัดสินในงาน Maker Faire Bangkok 2019