ฟองสบู่มากมายลอยละล่องในอากาศ เชิญชวนให้บรรดาเด็กผู้ชายพากันตื่นเต้นและสนุกไปกับการเล่นทำลายฟองสบู่เหล่านั้น ท่ามกลางบูธต่างๆ มากมายในงาน Maker Faire Bangkok 2019 หรือมหกรรมแสดงผลงานและสิ่งประดิษฐ์ของสุดยอดเมกเกอร์ Yasuhito Sakuraba ก้าวเดินออกมาอย่างช้าๆ ราวกับกำลังแหวกว่ายอยู่ในกระแสน้ำ บนศีรษะของเขาสวมหมวกกันน็อคที่ดูคล้ายหมวกนักบินอวกาศซึ่งทำการปลดปล่อยฟองสบู่ออกมาเป็นระยะๆ ใบหน้าของเขาที่ซ่อนอยู่ภายใต้หมวกกันน็อคเต็มไปด้วยรอยยิ้ม
“สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ให้ความรู้สึกเหมือนนักดำน้ำที่กำลังดำน้ำอยู่ในท้องทะเลลึก ผมอยากสร้างสรรค์สิ่งที่เด็กๆ จะชื่นชอบเทคโนโลยีทำให้ผู้คนสนุกกับชีวิตมากขึ้น” Sakuraba ผู้เดินทางจากโตเกียวเพื่อมาร่วมงาน Maker Faire Bangkok ติดต่อกันเป็นปีที่สอง กล่าวขึ้น
Sakuraba เล่าให้ผู้ชมในงานฟังถึงหมวกกันน็อคที่เขาประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งรวมถึงการใช้ท่อน้ำทิ้งของเครื่องซักผ้าด้วย โดยเขาใช้บอร์ดอาร์ดูอิโน่ในการสั่งให้ไฟ LED เปลี่ยนสี และทำให้มอเตอร์ปลดปล่อยอากาศที่มีความเร็วเทียบเท่ากับลมหายใจของมนุษย์ออกมา สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นความคิดสร้างสรรค์ ความเฉลียวฉลาดและความขี้เล่นของเมกเกอร์ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างรวดเร็วในวงกว้าง
“เมกเกอร์ คือ คนที่สามารถส่งต่อแรงบันดาลใจของเขาผ่านสิ่งประดิษฐ์” นายพรชัย โอฬาริกเดช จาก Maker Club จังหวัดเชียงใหม่ กล่าว
งานมหกรรมแสดงผลงานและสิ่งประดิษฐ์ของเหล่าเมกเกอร์ ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้สร้างแรงบันดาลใจรวมถึงท้าทายให้ผู้เข้าชมงานนึกถึงความเป็นไปได้ของการประดิษฐ์สร้างสรรค์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ภายในงานประกอบด้วยบูธแสดงผลงานต่างๆ ของเมกเกอรกว่า 70 บูธ เช่น เครื่องปริ้นท์ 3 มิติ เครื่องตัดวัสดุต่างๆด้วยเลเซอร์ความร้อน อุปกรณ์ช่วยเขียนโปรแกรมเกมส์ VR มอเตอร์ไซค์และเก้าอี้รถเข็นแบบทำเอง แขนเทียม หุ่นยนต์ AI และซอฟต์แวร์ที่แปลงใบหน้าของผู้ใช้ให้เป็นตัวการ์ตูนแอนิเมชั่น เป็นต้น
งาน Maker Faire Bangkok 2019 ซึ่งสนับสนุนโดยโครงการ Chevron Enjoy Science ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและกลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย จัดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นแรงผลักดันให้คนไทยกล้าแสดงความคิดสร้างสรรค์ผ่านการใช้เทคโนโลยี
“ทุกคนสามารถเป็นเมกเกอร์ได้หากมีทัศนคติที่ดีและมีจินตนาการ และไอเดียเหล่านี้อาจกลายเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคตที่สามารถพลิกโฉมประเทศของเราได้” นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าว
“งาน Maker Faire เป็นงานที่สุดยอดมาก เพราะทำให้เรามีพื้นที่ในการนำเสนอผลงานดีๆที่มีส่วนช่วยทำให้โลกของเราเป็นที่ที่น่าอยู่ขึ้น” นายสุรศักดิ์ ฟองหิรัญศิริ สมาชิกของหนึ่งใน 20 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบการแข่งขัน Young Makers ในปีนี้ แสดงความเห็น
ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจากสถาบันการศึกษาสายสามัญและสายอาชีวะในประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนให้เดินทางไปร่วมแสดงผลงานต่อคณะกรรมการและบุคคลทั่วไปที่งาน Maker Faire โดยบูธการแข่งขันของ Young Makers มีการจัดแสดงอุปกรณ์หมักปุ๋ยจากอาหาร อุปกรณ์แยกน้ำมัน ถังขยะอัจฉริยะ และสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ภายใต้แนวคิด ‘นวัตกรรมเพื่อโลกสีเขียว’
“พวกเราเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน” นางสาวณัฐชานันท์ พูลสวัสดิ์ แบ่งปันความรู้สึกของเธอที่มีต่อกลุ่มเมกเกอร์ ทีมเมกเกอร์รุ่นใหม่ ได้รับทั้งการช่วยเหลือและคำแนะนำจากเมกเกอร์รุ่นพี่ที่คอยผลักดันให้ทีมเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อทำให้สิ่งที่คิดกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ “เราต้องใช้สิ่งที่เรียนรู้มาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์เชิงกล บอร์ดอาดูอิโน่ การสร้างแบบจำลอง การบัดกรี หรือแม้แต่การขัดทราย” นางสาว ณัฐชานันท์ พูลสวัสดิ์ กล่าว
การมีส่วนรวมของเยาวชนในยุคเทคโนโลยีที่กำลังเติบโต มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ของประเทศไทย “ผมเชื่อว่า หากเยาวชนไทยได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งรวมถึงในด้านพื้นที่หรือแพลทฟอร์มในการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความคิดหรือผลงาน และการประกวดแข่งขัน กระแสความเคลื่อนไหวของเหล่าเมกเกอร์ในประเทศไทยจะสามารถเกิดขึ้นและเติบโต จนสามารถนำประเทศไทยไปสู่การเป็น ‘เมกเกอร์เนชั่น’ ที่ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ได้” นายธณพล กิจมุติ วิศวกรคอมพิวเตอร์ และเมกเกอร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนโปรแกรมเกมส์คอมพิวเตอร์ กล่าว
ในพิธีเปิดงาน Maker Faire คณะเมกเกอร์ผู้มีชื่อเสียงในประเทศไทยประกาศผลรางวัลที่มีมูลค่ารวมถึง กว่า 1.2 ล้านบาท โดยทีมที่ชนะเลิศจะได้เดินทางไปร่วมชมงาน Bay Area Maker Faire ในปีนี้ ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทสายสามัญ ได้แก่ ทีมสร้างหุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกบนผิวน้ำ จากโรงเรียนสตรีพัทลุง ส่วนทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทสายอาชีวะ ได้แก่ ทีมสร้างเครื่องล้างหอยนางรม (Clean Oyster) จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี
“เรามาร่วมงานนี้เพราะมันเป็นสิ่งที่เรารัก ไม่เช่นนั้นเราคงไม่สามารถมาไกลถึงจุดนี้ได้” นายอนุรักษ์ ขาววัต หนึ่งในเมกเกอร์ผู้ชนะจากผลงานเครื่องล้างหอยนางรม (Clean Oyster) จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานีเผย
“มันเหมือนกับว่าเรากำลังค้นพบโลกใบใหม่เลยทีเดียว” นางสาวกานต์พิชชา กาญจนะเกตุ กล่าวทิ้งท้าย
ES_Newsletter_2019_Feb_T