“มีเด็กคนหนึ่งชอบแตงโมมาก” คุณครูท่านหนึ่งกล่าวอย่างตื่นเต้น พร้อมวาดมือเป็นวงกลมเล็กๆ อย่างหนักแน่น “เขาซื้อแตงโมมาจำนวน x ผล และกลับบ้านไปเจอแตงโมอีก 3 ผล เขาจะต้องกินแตงโมทั้งหมดกี่ผล”
คุณครูอีกท่านกล่าวเสริมต่อ “พอเขากินต่อไม่ไหว เขาจึงเข้านอน และตื่นมาเจอแตงโมจำนวน x บวก 3 ลบ 1 ผล ถามว่าใครเป็นคนขโมยแตงโมที่หายไป” เรียกเสียงหัวเราะให้กับคนทั้งห้อง
ในห้องประชุม ณ โรงแรมแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพมหานคร คุณครูคณิตศาสตร์จากวิทยาลัยเทคนิคจำนวน 92 ท่านกำลังเรียนรู้การเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์รูปแบบใหม่ หรือ Interactive Mathematics Program (IMP) ซึ่งคุณครูจะได้รับการอบรมให้กระตุ้นนักเรียนในการรู้จักใช้จินตนาการสำหรับการแปลงสมการเส้นตรงและกราฟให้เป็นสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
ความคิดสร้างสรรค์ การร่วมมือกัน และแม้กระทั่งเสียงหัวเราะล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การเรียนการสอนแบบ IMP ประสบความสำเร็จ คุณครูคณิตศาสตร์มากประสบการณ์จากสหรัฐอเมริกา 4 ท่านซึ่งเป็นผู้อบรมหลักสูตร IMP นำข้อความขึ้นแสดงบนกระดาน“เราต้องทำให้ชั้นเรียนคณิตศาสตร์เข้าใจง่ายขึ้นและสามารถเชื่อมโยงได้กับชีวิตประจำวัน เพื่อให้นักเรียนทุกคนมองเห็นว่าตนเองสามารถเรียนคณิตศาสตร์ได้และเป็นส่วนสำคัญในชั้นเรียนนั้นๆ”
คุณครูจากวิทยาลัยเทคนิค 61 แห่งทั่วประเทศไทยที่มาร่วมกิจกรรมเชิงปฏิบัติการเป็นระยะเวลา 5 วัน์ในเดือนมีนาคม ถือเป็นบุคคลกลุ่มแรกๆ ที่จะเริ่มปฎิบัติตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงความคิดสร้างสรรค์และทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาในรุ่นต่อๆ ไป
“เวลานักเรียนเทคนิคคิดถึงเลข เขาจะคิดว่ามันน่าเบื่อ การสร้างบริบทให้วิชาคณิตศาสตร์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการเรียนการสอนแบบ IMP เพราะจะทำให้เด็กไม่รู้สึกเหมือนกำลังเรียนเลขในขณะที่เรียนอยู่” ธิษณา บำรุงเมือง ครูผู้สอนวิทยาลัยเทคนิคสตูล กล่าว
ตอนริเริ่มโครงการฯเพื่อพลิกโฉมสะเต็มศึกษาในประเทศไทย หนึ่งในการพิจารณาที่สำคัญคือ การเลือกหลักสูตรที่ส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์เชิงแก้ปัญหาในชั้นเรียนของวิทยาลัยเทคนิค
แต่ละหลักสูตรของ IMP จะสอดคล้องกับสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวัน เช่น วิธีการทำธุรกิจเบเกอรี่ให้ประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น หน่วยบนสมการเส้นตรงกำหนดว่าคุกกี้สองประเภทใช้ส่วนผสมที่ต่างกัน และมีราคาขายที่ไม่เท่ากัน เมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดทางส่วนผสมและราคาแล้ว จะต้องขายคุกกี้แต่ละประเภทจำนวนเท่าไรจึงจะได้กำไรสูงสุด
“IMP ไม่ได้เป็นเพียงวิชาเลขแต่เป็นการสร้างนิสัยในการคิดแบบแก้ปัญหา การเพิ่มและลดจำนวน การให้เหตุผลและแก้สมการย้อนกลับเหมือนสมการผกผันทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการและการฝึกฝนต่อเนื่อง” โรบิน โครอซซิ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญจากเมืองลูอิส รัฐเดลาแวร์ กล่าว
หลักสูตร IMP โดดเด่นในหลักการสอนที่เน้นสร้างแรงจูงใจ การมีส่วนร่วม และนิสัยใฝ่รู้ให้แก่นักเรียน และได้รับการจัดอันดับโดยกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐอเมริกาให้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนตัวอย่างที่มีประสิทธิผลอย่างเห็นได้ชัดในชั้นเรียนที่นักเรียนมีความหลากหลาย โครงการเชฟรอนสนุกวิทย์ฯ จึงร่วมมือกับ Activate Learning ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อนำคู่มือครูและหนังสือเรียนมาปรับบริบทและแปลเป็นฉบับภาษาไทย
“โครงการเชฟรอนสนุกวิทย์ฯ มาพร้อมหลักเกณฑ์ที่ว่า จะต้องขยายผลได้ มีความยั่งยืน และปรับได้ตามความเหมาะสม” โทมัส ลัสเตอร์ รองประธานฝ่ายกลยุทธ์และเครือข่าย Activate Learning กล่าว “วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของโครงการฯ และทีมงานคุณภาพทำให้เกิดผลงานที่ยอดเยี่ยม”
ภายใต้รูปแบบโครงการฯที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 ท่านจาก Activate Learning เดินทางมาประเทศไทยเพื่อจัดการอบรมให้คุณครูที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 30 ท่าน หรือ “คุณครูต้นแบบ” โดยครูต้นแบบเหล่านี้จะร่วมกันจัดกิจกรรมเวิร์คช้อป
กระจายความรู้ให้กับครูกลุ่มอื่นต่อไป
“หลักสูตร IMP แสดงให้เห็นว่าคณิตศาสตร์จับต้องได้และสามารถนำไปใช้ได้จริงได้อย่างไร และการพัฒนาของหลักสูตรช่วยให้นักเรียนสามารถใช้เหตุผลและทำความเข้าใจแนวคิดได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น” ครูธิษณากล่าว
ครูธิษณา มีประสบการณ์การสอนมากว่า 29 ปี จึงมีความคุ้นเคยกับโปรแกรมพัฒนาวิชาชีพครูต่างๆเป็นอย่างดี “ครูเคยเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช้อปต่างๆ มากมาย แต่ไม่มีอันไหนมอบประสบการณ์เหมือน IMP” เธอกล่าว
“ครูรู้สึกยินดีมากที่ได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ แต่ก็เสียดายที่ครูท่านอื่นๆ ยังไม่มีโอกาสเข้าร่วมการอบรม ถ้าครูอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ครูจะผลักดันให้ IMP เป็นนโยบายแห่งชาติ”
ES_Newsletter_MAR__TH