Alienum phaedrum torquatos nec eu, vis detraxit periculis ex, nihil expetendis in mei. Mei an pericula euripidis, hinc partem.
 

จดหมายข่าวโครงการ Chevron Enjoy Science ฉบับที่ 23

จดหมายข่าวโครงการ Chevron Enjoy Science ฉบับที่ 23

เชฟรอน สนุกวิทย์ฯ มุ่งพัฒนาครูไทยผ่านการขับเคลื่อน “ชุมชนแห่งการเรียนรู้”

การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศีกษานั้นถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักและภารกิจสำคัญที่ทางโครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ พลังคิดเพื่ออนาคต ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพราะการพัฒนาการศึกษาจะเกิดขึ้นได้นั้น หนึ่งในปัจจัยสำคัญก็คือครูจะต้องมีทักษะและกระบวนการสอนที่จะสามารถดึงความสนใจของเด็ก ให้เด็กเข้าใจและสามารถคิดวิเคราะห์ถึงองค์ความรู้ที่ได้รับเพื่อนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้

วิธีการพัฒนาครูภายใต้โครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ฯ นั้นมีอยู่หลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาวิชาชีพครูผู้สอนโดยนำกระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะเข้ามาใช้ การสร้างครูพี่เลี้ยงทางวิชาการ ซึ่งเป็นผู้มีความเข้าใจในหลักสูตร พฤติกรรมและกระบวนการเรียนการสอนของไทย มาถ่ายทอดแนะนำองค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่ครูเพื่อสร้างให้เกิดวิธีคิดเป็นแนวทางเดียวกัน ตั้งแต่การกระตุ้นความสนใจเด็ก การวัดผล สามารถนำหลักสูตร อุปกรณ์จากโครงการไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม และการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการติดตาม ประเมินผลและแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างครูด้วยกันอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวคิดเรื่องชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC นั้น ในปัจจุบันยังเป็นเรื่องใหม่ของครูไทย และกำลังเข้ามามีบทบาทที่สำคัญต่อกระบวนการพัฒนาครูในประเทศไทย PLC นั้น ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2533 โดยภาคเอกชน ด้วยเห็นว่าแนวคิดการทำงานเป็นทีมและการทำงานร่วมกันนั้นจะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิต ในส่วนของภาคการศึกษาเองนั้นก็ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ เนื่องจากนักการศึกษาเชื่อว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้ในโรงเรียนนั้นจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดความสำเร็จของครูและสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นให้แก่นักเรียน

ในประเทศไทย สถาบันคุรุพัฒนาภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนแนวคิด PLC เพื่อให้ครูนำไปปฎิบัติใช้ โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญในการสร้างแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของครูต่อ PLC ก็คือการเชื่อมโยงการส่งเสริม PLC เพื่อให้ครูสามารถนำไปใช้ในการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งครูที่เข้าร่วมการประชุม PLC จำนวน 50 ชั่วโมง หรือมากกว่า 5 ปีติดต่อกันสามารถส่งผลงานไปยังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อสะท้อนถึงสิ่งที่เรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะของครูได้

ดร. เกศรา อมรวุฒิวร ผู้จัดการอาวุโสด้านโครงการและวิชาการ และผู้จัดการการอาวุโสด้านการพัฒนาสะเต็มศึกษาภายใต้โครงการเชฟรอนสนุกวิทย์ฯ ได้กล่าวถึงรูปแบบการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพหรือ PLC ภายใต้โครงการว่า โครงการฯ ได้ขานรับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้นำแนวทางในการส่งเสริมการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของสถาบันคุรุพัฒนามาใช้ โครงการฯ ได้เริ่มจัดอบรมให้ครูให้สามารถมีองค์ความรู้ในการจัด PLC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างเครือข่ายสังคมแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพภายใต้โครงการฯ ไปแล้วมากกว่า 60 เครือข่าย จากโรงเรียนที่เข้าร่วมประมาณ 240-300 โรงเรียนทั่วประเทศ วิธีการสำคัญที่โครงการนำมาใช้ ก็คือการเปิดชั้นเรียน หรือ Open Classroom approach เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากครูเพื่อการหารือร่วมกันในการสร้างการเรียนรู้ของนักเรียน ครูจะตั้งเป้าหมายในการปรับปรุงวางแผนบทเรียนร่วมกันและเยี่ยมชมห้องเรียนของกันและกัน เพื่อสังเกตการณ์และสะท้อนถึงวิธีที่นักเรียนเรียนรู้ เพื่อนำไปปรับบทเรียนและปรับปรุงการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง

ผลลัพธ์ที่สำคัญที่โครงการได้จากการสร้าง PLC ได้แก่ ครูเริ่มตะหนักถึงความสำคัญของ PLC ว่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะมาช่วยต่อยอด เติมเต็ม อุดช่องว่าง และแก้ปัญหาที่ครูบางท่านอาจพบบ่อย แต่ก็ยังหาหนทางออกไม่ได้สักที

คุณครูกานต์พิชชา จูชาวนา หัวหน้ากลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ จากโรงเรียนบางกระทุ่มพิทยาคม จังหวัดพิษณุโลก กล่าวถึงผลลัพธ์ทางด้านบวกที่ได้รับหลังจากเข้าร่วมอบรมด้าน PLC กับโครงการฯ ว่า  “ก่อนหน้านี้ มักคิดกิจกรรมใหม่ๆ ที่จะนำมาสอนเด็กไม่ค่อยได้มากนัก แต่หลังจากได้ร่วมกิจกรรม PLC แล้ว การแลกเปลี่ยนวิธีการสอน และถกถึงปัญหาที่มักพบบ่อยในชั้นเรียนของตนกับครูท่านอื่นๆ จากโรงเรียนอื่น ทำให้ได้แนวคิดและรูปแบบใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์กิจกรรมให้แก่เด็กในห้องเรียนมากขึ้น พร้อมได้รับคำตอบและคำแนะนำมากมายต่อปัญหาในการสอนอื่นที่พบ นอกจากนี้ การวางแผนการสอนร่วมกัน ก็ได้ปรับเปลี่ยนกลวิธีการสอนในห้องเรียนของตนจนทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย”

การนำ PLC ไปใช้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ครูสามารถช่วยแก้ปัญหาของตนเองได้เท่านั้น แต่ยังสามารถแก้ปัญหาทางโครงสร้างของการศึกษาภาษาไทยได้หลายอย่าง

ประการแรก PLC จะเปลี่ยนศูนย์กลางของการทำงานของครูไป จากการทำงานคนเดียว การวางแผนการสอนทั้งหมดด้วยตนเองคนเดียว เป็นการร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ไขแบบหมู่คณะและสร้างสังคมการทำงานและเรียนรู้ร่วมกันแบบกัลยาณมิตร ซึ่งจะเป็นวิธีการใหม่ในการเสริมสร้างศักยภาพของครูผู้สอนที่จะสร้างวิธีการสอนที่แตกต่างไปจากเดิมเพื่อเป้าหมายในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่เด็กในชั้นเรียนเป็นสำคัญ

ประการที่สอง คือการเสริมสร้างแนวคิดในการทำงานเป็นทีม การทำงานร่วมกันและสร้างความรับผิดชอบร่วมกัน ครูจะทำงานแบบกลุ่มเพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนและแก้ไขปัญหาที่พบบ่อยในโรงเรียนและหาแนวทางแก้ไขร่วมกันว่าการสอนของพวกตนต้องการปรับเปลี่ยนหรือไม่

ประการที่สาม PLC สามารถช่วยแก้ไขปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,000 แห่งที่ครูอาจยังขาดความรู้ในด้านเนื้อหาบทเรียนและขาดการจัดการห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้สามารถได้รับคำแนะนำความรู้ด้านการสอน และเทคนิคต่างๆ โดยครูจากโรงเรียนอื่นๆในพื้นที่เดียวกัน สามารถเข้าเยี่ยมชมและให้การสนับสนุนเพื่อปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนขนาดเล็กได้

สุดท้าย PLC เน้นไปที่ผลลัพธ์ที่นักเรียนจะได้รับจากการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนในห้องเรียนของครูเป็นสำคัญ เพราะปัจจัยสำคัญต่อการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะของครูที่นำเอาการมีส่วนร่วมด้าน PLC มาใช้นั้น ก็คือ ผลลัพธ์และความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนที่ครูจะต้องบันทึกอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปอ้างอิงต่อการประเมินผลความก้าวหน้าทางวิชาชีพของพวกเขาผ่านการเปลี่ยนแปลงผลการเรียนของนักเรียนต่อไป

Newsletter Issue 23 TH Final

Date

April 27, 2018

Category

Newsletter