Alienum phaedrum torquatos nec eu, vis detraxit periculis ex, nihil expetendis in mei. Mei an pericula euripidis, hinc partem.
 

จดหมายข่าวโครงการ Chevron Enjoy Science ฉบับที่ 24

จดหมายข่าวโครงการ Chevron Enjoy Science ฉบับที่ 24

โครงการ เชฟรอน สนุกวิทย์ฯ สร้างสรรค์ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์

บทพิสูจน์จากการดำเนินโครงการเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของการศึกษาไทย

จากความมุ่งมั่นของโครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่ต้องการพัฒนาการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ STEM และยกระดับการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ หรือ TVET ที่ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีกรอบการดำเนินงานเป็นเวลา 5 ปีนั้น เป็นเวลากว่าครึ่งทางแล้วที่ทางโครงการฯ ได้ทำงานอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปัจุบัน มีโรงเรียนกว่า 700 แห่ง และครูผู้สอน นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา และแรงงานจำนวนกว่า 480,000 รายทั่วประเทศได้รับประโยชน์จากโครงการฯ

นอกจากการดำเนินโครงการฯ ตามกรอบที่กำหนดไว้ การประเมินผลเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่จะส่งผลให้โครงการฯ มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยกระบวนการประเมินผลของโครงการฯ ทั้งหมด ได้ดำเนินการโดยหน่วยงานภายนอกเพื่อความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ โดยโครงการฯ ได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินผลและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาได้แก่ องค์กร Management International Systems หรือ MSI และ คณะนักวิจัยไทย (National Research Team – NRT) ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิจัยมากกว่า 50 ท่าน จาก 15 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อทำงานร่วมกันในการวางแนวทางและกรอบการประเมินผล พัฒนาเครื่องมือและระเบียบการเก็บรวบรวมข้อมูล รวมทั้งวางแผนการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินโครงการฯ ซึ่งความร่วมมือระหว่างองค์กร MSI และคณะนักวิจัยไทยทำให้มั่นใจได้ว่าการประเมินผลครั้งนี้จะมีความเชื่อมโยงและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาไทยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านของการเรียนรู้ของนักเรียน วิธีการจัดการเรียนการสอน การปฏิบัติการจัดการเรียนรู้ของครู การเปลี่ยนแปลงของชั้นเรียน ภาวะผู้นําของผู้บริหารสถานศึกษา และชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ

การประเมินผลในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการวัดประสิทธิภาพของโครงการฯ ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และเชื่อถือได้ ซึ่งการประเมินผลแบ่งเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ การประเมินผลด้านการพัฒนาศักยภาพครูและนักเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ (STEM) มุ่งที่กลุ่มเป้าหมายครูและนักเรียนในภาคการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 3 และ การประเมินผลด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ (TVET) มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่อยู่ในภาคการศึกษาสายอาชีพทั้งระดับ ปวช. และ ปวส. โดยใช้วิธีการตรวจสอบสมมติฐานเชิงเส้นทาง (casual pathways) ระหว่างการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการฯ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับครูและนักเรียน รวมถึงการจัดการเรียนรู้ของครู การมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน และหลักสูตรที่พัฒนามาใช้ในการจัดการเรียนรู้ในโครงการฯ

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลและประเมินผลจะมีอยู่สามช่วงเวลาคือ ข้อมูลพื้นฐาน (initial) ระยะกลาง (midline) และระยะสิ้นสุดโครงการ (endline) ซึ่งครอบคลุมตลอดการดำเนินงานของโครงการฯ และเพื่อให้เห็นผลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น การประเมินจะมุ่งเน้นที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ ในสามประเด็นหลัก ได้แก่ สะเต็มศึกษา (STEM) สะเต็มศึกษาสำหรับการพัฒนาทักษะอาชีพ (STEM FOR TVET) และการพัฒนาทักษะที่จำเป็นและองค์ความรู้ด้านเทคนิคเฉพาะทางสาขาของช่างเทคนิค (TECHNICAL TVET) โดยใช้วิธีการวิจัยแบบผสมผสานทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ข้อมูลปฐมภูมิในการประเมินผลประกอบด้วย การสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนและครู การสังเกตชั้นเรียน การสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์ครู นอกจากนี้การประเมินยังมีการเปรียบเทียบผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) สำหรับการศึกษาระดับพื้นฐาน และผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (V-NET) สำหรับการศึกษาระดับอาชีวศึกษาอีกด้วย

ทั้งนี้ การประเมินผลจะใช้การวิเคราะห์พฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนที่มีลักษณะเทียบเคียงกัน โดยแบ่งเป็นโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ และโรงเรียนกลุ่มเปรียบเทียบ (ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ)  โดยมีคุณลักษณะเทียบเคียงกันทั้งทางด้านสถานที่ตั้ง ขนาดของโรงเรียน สังกัดและคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ซึ่งมีโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 275โรงเรียน นักเรียนจำนวน 12,378 คน และครูจำนวน 551 คน จากทั้งสิ้น 54 จังหวัด ที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มตัวอย่างเพื่อการประเมินผล

ในภาพรวม ข้อค้นพบหลักจากการประเมินผลระยะข้อมูลพื้นฐานในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ มีผลการประเมินในระดับที่ดีกว่าโรงเรียนในกลุ่มเปรียบเทียบ

สำหรับโรงเรียนในกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการฯ ในส่วนของสะเต็มนั้น พบว่าสถิติแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในด้านการมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน ทักษะผู้เรียนในวิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และการเข้าศึกษาต่อในสายที่มีความเกี่ยวข้องกับสะเต็ม โดยนักเรียนมีความกระตือรือร้น มีความสนใจในบทเรียนมากขึ้น และสามารถประยุกต์สิ่งที่ได้เรียนรู้ในห้องเรียนสู่ชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ร้อยละ 70 ของโรงเรียนในโครงการฯ ได้นำวิธีการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry based learning) และนำการทดลองมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งส่งผลให้นักเรียนสามารถการทำกิจกรรมเป็นกลุ่มและอภิปรายกับเพื่อนร่วมชั้นได้ ในขณะที่ครูร้อยละ 50 ในโรงเรียนกลุ่มเปรียบเทียบยังคงใช้วิธีการสอนแบบบรรยายและมอบหมายงานเป็นรายบุคคล

สำหรับข้อค้นพบที่ได้จากการประเมินในส่วนของ STEM for TVET นั้น พบว่าครูวิทยาศาสตร์ในวิทยาลัยเทคนิคที่เข้าร่วมโครงการฯ ร้อยละ 40 ใช้กระบวนการสอนแบบสืบเสาะโดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project based learning) แต่ครูในอัตราร้อยละ 24 ในโรงเรียนกลุ่มเปรียบเทียบเท่านั้นที่นำเสนอการสอนในรูปแบบนี้ อีกทั้งผลการประเมินยังแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 64 ของนักเรียนจากวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการฯ มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ และอีกร้อยละ 95 รู้สึกสนุกไปกับการเรียนวิทยาศาสตร์

ในส่วนของ Technical TVET นั้น ผลประเมินครั้งนี้จะถูกใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานของการเก็บข้อมูลในครั้งต่อไปโดยจากข้อมูลที่ได้เก็ยบในขั้นพื้นฐานแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนในกลุ่มตัวอย่างที่ถูกเลือกนั้นมีความเป็นคู่เทียบที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเป็นอย่างดี ซึ่งจะนำไปสู่การประเมินผลที่แม่นยำในระยะกลาง (midline) ไปจนถึงระยะสิ้นสุดโครงการ (endline) โดยคณะผู้ทำการประเมินผลจะนำเสนอในวาระต่อไป

ทั้งนี้ ทีมประเมินผลจะยังคงดำเนินการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องต่อไปภายใต้การดำเนินงานของ MSI คณะนักวิจัยไทย และพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งข้อค้นพบที่ได้จากการประเมินจะเป็นการพัฒนาระบบการศึกษาไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าโครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต มีเจตนารมณ์ในการพัฒนาการศึกษาไทยอย่างจริงจัง และการประเมินผลล่าสุดนี้ จะเป็นการย้ำเตือนให้บุคลากรในภาคการศึกษาไทยตื่นตัวในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเพื่ออนาคตของครูและนักเรียน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบสะเต็มศึกษาซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 สามารถดาวน์โหลดผลการประเมินเบื้องต้นฉบับเต็มได้ที่ https://www.enjoyscience.kenan-asia.org/me/

Newsletter Issue 24 TH

Date

May 31, 2018

Category

Newsletter