เมื่อประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 นอกจากความพร้อมในด้านต่างๆที่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้ความสนใจ แต่สิ่งที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศเข้าสู่ยุคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ “กำลังคน” หากบุคลากรของประเทศมีความรู้ความสามารถ และก้าวทันตามเทคโนโลยีได้แล้ว จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การพัฒนากำลังคนอย่างยั่งยืนนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ใช่เพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น การเริ่มต้นจากภาคการศึกษาเป็นการหว่านเมล็ดทางความรู้ พร้อมสร้างฐานอย่างมั่นคงในอนาคต ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้ที่ใช้กำลังคนในการขับเคลื่อน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่การพัฒนากำลังคนควรเป็นความร่วมมือจากทั้งสองภาคส่วนใหญ่นี้ และจึงเป็นที่มาของโมเดลการพัฒนากำลังคนที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย โดยมีภาคเอกชนร่วมสนับสนุน
งานเสวนา “อาชีวะ 4.0 ศักยภาพแห่งอนาคต” เป็นการตอกย้ำแนวคิดในการพัฒนากำลังคนสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพื่อตอบโจทย์การทำงานในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่แรงงานอาชีวะควรมีความรอบรู้เท่าทันเทคโนโลยี โดยเป็นความมุ่งมั่นของโครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต โดยความร่วมมือจากคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และหน่วยงานอาชีวะศึกษาจากภาครัฐ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนศักยภาพของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่การศึกษา การพัฒนาองค์ความรู้ การคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา การส่งเสริมทักษะเทคนิคช่าง และความสามารถในการสร้างนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่ 4 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน พลังงาน แปรรูปอาหาร และไมโครอิเล็กทรอนิกส์
สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการเร่งผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะ ความมุ่งมั่นของโครงการฯ จึงเป็นการเติมเต็มให้เกิดการพัฒนาอย่างจริงจัง โดยภายในงาน พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวว่า “หนึ่งในแนวทางสำคัญคือ การพัฒนาทักษะอาชีพ หรือ Technical Vocational Education and Training (TVET) ซึ่งเป็นการศึกษาทั้งในและนอกระบบที่มุ่งเน้นการลงมือทำจริง ทำให้แรงงานมีทักษะ สามารถประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ทันที นับเป็นเรื่องดีที่วันนี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันนำรูปแบบ TVET มาเสริมสร้างการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับแรงงาน จนเริ่มปรากฏผลสัมฤทธิ์ที่จะนำไปสู่การพัฒนาคนอย่างยั่งยืน”
ทางด้านแนวทางการพัฒนาแรงงานของภาคการศึกษาอาชีวะนั้นมีแนวโน้มในทางทีดี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังคนเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง โดยดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการพัฒนาแรงงานอาชีวะว่า มีความคืบหน้าไปด้วยดี โดยในปีการศึกษา 2561 มีสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพทั่วประเทศเพิ่มเป็นร้อยละ 39.70% และสายสามัญ 60.30% ซึ่ง สอศ. กำลังเร่งสร้างความเข้าใจและแรงจูงใจเพื่อเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพมากขึ้นให้ได้ร้อยละ 50 ตามนโยบายของรัฐบาล”
สำหรับโครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ฯ เล็งเห็นว่าเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการพัฒนากำลังคนทางด้านช่างเทคนิค ให้มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี สำหรับการทำงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น เป็นเรื่องที่โครงการฯ สนับสนุนอย่างเต็มที่ อีกทั้งได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐ ตามแนวนโยบาย “รัฐร่วมเอกชน” เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพและเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งภายในและนอกประเทศ
“ความท้าทายที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญในปัจจุบัน คือการขาดทักษะที่จำเป็นและองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน ดังนั้นเราจึงต้องเพิ่มและเติม 2S (STEM + SKILLs) ให้แก่แรงงาน ผ่านภาคการศึกษาโดยมีครูอาชีวะเป็นผู้ถ่ายทอด เพื่อให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ และสร้างแรงบันดาลใจต่อการสร้างนวัตกรรม” นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าว “ช่างเทคนิค คือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคอุตสาหกรรม 4.0 หากประเทศสามารถผลิตช่างเทคนิคที่รอบรู้ทั้งความรู้ด้านสะเต็มและทักษะแล้ว จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้ทัดเทียมระดับนานาชาติได้” นายอาทิตย์ กล่าวทิ้งท้าย
งานเสวนา “อาชีวะ 4.0 ศักยภาพแห่งอนาคต” ได้ต้อนรับผู้ร่วมงานกว่า 600 คน จากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งครูจากสถาบันอาชีวศึกษาจากทั่วประเทศ เพื่อร่วมฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการนำไปพัฒนากำลังคนสู่แรงงานอาชีวะคุณภาพที่เหมาะสมต่อบริบทของแต่ละสถานศึกษาต่อไป
Newsletter Issue 26 TH