นักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยตบเท้าเข้าร่วมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สร้างสรรค์โลกแห่งการเรียนรู้ เติมเต็มทุกจินตนาการ สู่ประสบการณ์นักวิทยาศาสตร์มือใหม่
เป็นอีกหนึ่งปีที่โครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ได้เข้าร่วมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเพื่อนำเสนอกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่ให้น้องๆ นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปได้สัมผัสประสบการณ์ที่ได้ฝึกฝนทั้งทักษะในด้านต่างๆ และต่อยอดสู่ผลงานที่เป็นจริง
เสียงหัวเราะและการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันมีมาตลอดจากกิจกรรมภายใต้คอนเซ็ปท์ “ทุกคนสามารถเป็นวิศวกรได้” ซึ่งโครงการฯเป็นผู้ริเริ่มและนำเสนอในงานครั้งนี้ เพียงก้าวแรกที่เข้ามาภายในงาน เราได้เห็นถึงความตื่นเต้นและความกระตือรือร้นจากเด็กๆ ทุกคน ซึ่งภายในบูธ Enjoy Design Challenges ที่ได้รับการพัฒนาจากกิจกรรมต้นแบบของ Museum of Science (MOS) เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ทำให้้เห็นว่าเด็กๆ มาพร้อมกับอาวุธทางปัญญา และพร้อมปล่อยพลังทางความคิดกันอย่างเต็มที่
กิจกรรมภายในบูธเป็นการสื่อให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนการออกแบบจากปัญหาที่พบ วางแผน สร้างอุปกรณ์ต้นแบบ นำไปทดสอบ และนำมาปรับแก้จนได้ผลงานตามที่ต้องการภายใต้บรรยากาศที่ต่างไปจากห้องเรียน ซึ่งเปรียบเสมือนชีวิตจริงในการทำงานที่ไม่มีคุณครูหรือตำราหนังสือเรียนคอยชี้แนะว่าควรทำอย่างไร เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้แก่เด็กๆ ได้อีกมุมหนึ่ง นอกจากนี้ เด็กๆ ยังได้เข้าถึงการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษานอกห้องเรียนที่ โครงการฯ และอพวช. ตั้งใจนำมาให้เยาวชนไทยโดยเฉพาะ โดยมุ่งมั่นให้เยาวชนไทยได้มีอิสระทางความคิดและได้ทำในสิ่งที่ตนเองสนใจอย่างจริงจัง
ซึ่งกิจกรรม Enjoy Design Challenges ในปีนี้ ได้สร้างความน่าตื่นเต้นให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน โดยมีผู้สนใจกว่า 71,000 คนมีโอกาสได้ทดลองประดิษฐ์ชิ้นงานจากฝีมือของตนเอง สร้างความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เสียงเชียร์ให้กำลังใจเพื่อนๆ ระหว่างประดิษฐ์และแก้ปัญหาชิ้นงาน เป็นกำลังใจสำคัญในการทำชิ้นงานให้สำเร็จได้ ทุกคนได้สนุกไปกับกิจกรรม “ดาวเทียมมหาสนุก Soaring Satellites” ที่ต่างได้แสดงฝีมือแบบ DIY กันอย่างเต็มที่กับอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายๆ อย่างกรวยกระดาษ ถ้วยพลาสติก หลอด ฯลฯ โดยที่เด็กๆจะต้องนำอุปกรณ์ที่ได้รับมาประดิษฐ์เป็นดาวเทียมที่สามารถลอยอยู่บนอากาศได้ มีการลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง บางคนแทบหมดกำลังใจ แต่พอได้ยินเสียงเชียร์ หรือเกิดปิ๊งไอเดียใหม่ขึ้นมา ก็กลับมากระตือรือร้นที่จะทำให้จานดาวเทียมของตัวเองลอยได้อีกครั้ง เป็นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่อยากให้เกิดขึ้นแก่เยาวชนไทยทั้งในและนอกห้องเรียน
หนึ่งในผู้นำกิจกรรม“ดาวเทียมมหาสนุก Soaring Satellites” อย่าง มร. เดฟวิน คูรี่ Engineering Education Associate จาก Museum of Science เน้นยำ้ว่า การลองทำแล้วไม่สำเร็จไม่ใช่ปัญหา แต่การนำเอาประสบการณ์ที่ลองทำมาเรียนรู้และแก้ไขต่างหากที่สำคัญ “การทำงาน การคิดค้น หรือการประดิษฐ์โดยใช้กระบวนการออกแบบทางวิศวกรรมศาสตร์คือการเรียนรู้จากความล้มเหลว แล้วนำข้อผิดพลาดมาแก้ไข จนทำให้สำเร็จ”
อีกหนึ่งกิจกรรมจากโครงการฯ อย่าง “กระดานเลื่อนหิมะ Echo Base Bobsleds” ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ลองเลือกวัตถุดิบหลากหลายชนิดเพื่อมาห่อหุ้มแคร่หิมะจำลองให้สามารถเคลื่อนตัวได้อย่างเร็วหรือช้า ในลู่ระยะทาง 2.5 เมตร ซึ่งผ้าประเภทต่างๆ ที่เด็กๆ ได้ทดลองใช้ได้แก่ ผ้าสักหลาด ผ้าขนสัตว์ ผ้าลูกไม้ และผ้ากระสอบ จากกิจกรรมนี้เด็กๆ ยังได้ตั้งสมมติฐาน ทดลอง และปฏิบัติซ้ำๆหลายครั้งจนกว่าจะได้ผลเป็นที่พอใจ ซึ่งเป็นกระบวนการขั้นพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์สำหรับการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรม เรียกได้ว่าซึมซับความเป็นวิศวกรอย่างไม่รู้ตัว
สอดคล้องกับที่ มร. แอนเดรียน มีเลีย ผู้จัดการโปรแกรม Engineering Design Challenges จาก Museum of Science ได้กล่าวว่า “กระบวนการออกแบบทางวิศวกรรมศาสตร์สามารถนำไปใช้กับการดำเนินการใดๆก็ได้ในชีวิต กระบวนนี้ไม่ได้เป็นแค่ทักษะที่เราได้เรียนรู้ แต่มันเป็นกระบวนการคิดที่เราสามารถนำไปปรับใช้เมื่อใดก็ได้”
โดยรวมกิจกรรม Enjoy Design Challenges ไม่เพียงแต่กระตุ้นให้เกิดจินตนาการในการสร้างสรรค์งานประดิษฐ์ แต่ยังเป็นการนำเอากระบวนการออกแบบทางวิศวกรรมศาสตร์มาสอดแทรก ซึ่งมีอยู่รอบตัวเราและเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตในอนาคต