Alienum phaedrum torquatos nec eu, vis detraxit periculis ex, nihil expetendis in mei. Mei an pericula euripidis, hinc partem.
 

จดหมายข่าวโครงการ Chevron Enjoy Science ฉบับที่ 30

จดหมายข่าวโครงการ Chevron Enjoy Science ฉบับที่ 30

ศูนย์ TVET แห่งใหม่ใน EEC

ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของโครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ที่โครงการอีอีซี ช่วยผลิตช่างเทคนิคที่มีทักษะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ

 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมูลค่าเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในภูมิภาคอาเซียน  แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์กลับมองว่าประเทศไทยนั้นติดกับดักรายได้ปานกลาง จากค่าแรงที่สูงขึ้น ทว่าประเทศไม่ได้เปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมการใช้แรงงานหนักไปสู่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม นอกจากนี้ต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นนั้นยังเป็นปัจจัยที่ฉุดความสามารถในการแข่งขันทางด้านการลงทุนอีกด้วย เพื่อตอบสนองสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย 4.0 เพื่อให้ชาวไทยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ประเทศไทย 4.0 เป็นการวางยุทธศาสตร์ให้ประเทศเป็นศูนย์กลางทางด้านการค้าและการลงทุนในระดับภูมิภาคและเป็นประตูสำคัญที่จะเชื่อมไปสู่ทวีปเอเชีย เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จดังกล่าว ผู้กำหนดนโยบายได้ให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทย โครงการอีอีซีประกอบด้วยจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา นับเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักในประเทศไทยมากว่า 30 ปี ทุกฝ่ายต่างให้ความสำคัญกับโครงการนี้เป็นอย่างมากโดยอาจกล่าวได้ว่าโครงการอีอีซี คือ “กุญแจสำคัญสู่ประเทศไทย 4.0”

สำหรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอัจฉริยะในประเทศไทย ทางรัฐบาลได้ประกาศช่วยเหลือสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีให้แก่การลงทุนใน 10 ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายของประเทศหรือที่เรียกกันว่า “S-Curve” ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (next-gen automotives) อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ (biochemicals) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (future foods) อุตสาหกรรมทางการแพทย์แบบครบวงจร (medical hubs) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (robotics) อุตสาหกรรมการบิน (aviation) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (smart electronics) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (wellness tourism) และอุตสาหกรรมดิจิตอล (digital)

โดยเมื่อปีที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทย (BOI) ได้อนุมัติการดำเนินงาน 203 โครงการ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 119.8 พันล้านบาท อาจกล่าวได้ว่ายุคประเทศไทย 1.0 ที่เศรษฐกิจพึ่งพิงผลผลิตจากการเกษตรเป็นหลักและยุคประเทศไทย 2.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมเบานั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว ปัจจุบันรัฐบาลมองหาหนทางที่จะเปลี่ยนผ่านยุคประเทศไทย 3.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก ไปสู่ประเทศไทย 4.0 ที่อุตสาหกรรมขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีบริษัทใหม่ๆ เริ่มเข้ามาตั้งรกรากที่โครงการอีอีซี มีการนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ๆ โรงงานอุตสาหกรรมต่างเปิดรับพนักงานเป็นจำนวนมาก คำถามที่สำคัญคือใครจะเป็นผู้ควบคุมการดำเนินการและดูแลรักษาเครื่องจักรรุ่นใหม่เหล่านี้

ความต้องการบุคคลากรเหล่านี้ได้ถูกยกเป็นประเด็นสำคัญ “ปัจจุบัน กลุ่มผู้ใช้แรงงานมีจำนวนมากกว่า 30 ล้านคน แต่มีเพียง 6-8 ล้านคนหรือร้อยละ 15 เท่านั้น ที่มีทักษะเพียงพอและตอบโจทย์มาตรฐานความต้องการของภาคอุตสาหกรรม” พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวในงานสัมมนาวิชาการอาชีวะ TVET 4.0 ศักยภาพแห่งอนาคต ภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ช่างเทคนิคที่มีศักยภาพและทักษะขั้นสูงนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยต่อยอดความสำเร็จของภาคอุตสาหกรรมอันล้ำสมัยอย่าง “S-Curve” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในโครงการอีอีซี ทั้งนี้ระบบการศึกษาในปัจจุบันมุ่งไปที่การผลิตบุคลากรที่เน้นใช้แรงงานซึ่งเหมาะกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มากกว่าการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 อย่างการคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ การร่วมมือร่วมใจปฏิบัติงาน ทักษะด้านการสื่อสาร และความคิดสร้างสรรค์

เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างสถาบันการศึกษาและธุรกิจอุตสาหกรรมยุคใหม่ โครงการ Chevron Enjoy Science ได้ก่อตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ (TVET) แห่งใหม่ขึ้นที่โครงการอีอีซี ศูนย์ฯ ที่อีอีซีจะช่วยขยายการดำเนินงานของโครงการฯไปสู่วิทยาลัยเทคนิคกว่า 60 แห่ง เข้าถึงนักศึกษาอาชีวะกว่า 166,000 คน บุคลากรครูกว่า 1,000 คน และผู้นำในสถานศึกษากว่า 350 คน จากศูนย์ฯ ที่ตั้งขึ้นแล้ว 5 แห่งทั่วประเทศ โดยมีแผนงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ภาคอุตสาหกรรมและผู้อำนวยการโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วม การพัฒนาทักษะครูและหลักสูตร การฝึกงานสำหรับนักศึกษา และอื่นๆ อีกมากมายขึ้นอยู่กับความต้องการที่เฉพาะเจาะจงและโอกาสของแต่ละภูมิภาค

ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพใช้   7 กลยุทธ์ ในการเตรียมความพร้อมนักศึกษาอาชีวะสู่การทำงานในสถานประกอบการยุคใหม

1.สร้างแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อเชื่อมโยงสถาบันอาชีวศึกษา นักเรียนนักศึกษา และภาคธุรกิจด้วยกัน่

2.เป็นศูนย์กลางในการตอบสนองต่อความต้องการทางด้านบุคลากรของภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาค และความต้องการทางด้านหลักสูตรของทั้งนักเรียนและครูในสถาบันอาชีวศึกษาแต่ละพื้นที่

3.นำรูปแบบการฝึกอบรมของต่างประเทศมาปรับปรุงหลักสูตร STEM และ TVET ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

4.เป็นศูนย์กลางในการให้คำปรึกษาและการประกันคุณภาพกับโรงเรียน ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการ

5.จัดการและดูแลสื่อการเรียนการสอนพร้อมแจกจ่ายให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ

6.พัฒนารูปแบบหลักสูตรและการฝึกอบรมที่เน้นการโต้ตอบและสามารถใช้งานได้จริง

7.พัฒนาโปรแกรมฝึกงานสำหรับนักศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

ภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาลต่างเห็นตรงกันถึงความสำคัญของการพัฒนาความรู้ความสามารถของช่างเทคนิคให้มีทักษะซึ่งจะช่วย   ขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจไทยไปอีกขั้น การจะช่วยให้นักศึกษาอาชีวะประสบความสำเร็จในการเรียนระดับชั้นที่สูงขึ้นได้นั้น รากฐานที่แข็งแกร่งของสะเต็มศึกษานั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการปฏิบัติงานในสายอาชีพเฉพาะทาง

ประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจพลังงาน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวที่งานสัมมนาวิชาการอาชีวะ TVET 4.0 ศักยภาพแห่งอนาคต เน้นย้ำถึงความสำคัญที่ครูผู้สอนจะต้องใช้เทคนิคใหม่ๆ ในการกระตุ้นให้นักเรียนนักศึกษาสนใจในการเรียนรู้ และยังผลักดันให้ครูแสดงออกถึงความสำคัญของการเรียนรู้ ที่มีต่อการพัฒนาประเทศชาติและสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อส่วนรวม

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวกับ Nikkei Asian Review ว่า “เราต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมและช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้ เพราะท้ายที่สุดก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เราตระหนักว่าการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จในอนาคต”

ES_Newsletter_Nov18 TH

Date

December 12, 2018

Category

Newsletter