Alienum phaedrum torquatos nec eu, vis detraxit periculis ex, nihil expetendis in mei. Mei an pericula euripidis, hinc partem.
 

ฟอสซิลเผยให้เห็นแมลงผสมเกสร เมื่อเกือบร้อยล้านปีก่อน

ฟอสซิลเผยให้เห็นแมลงผสมเกสร เมื่อเกือบร้อยล้านปีก่อน

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ในปัจจุบัน พืชดอกบนโลกของเรามีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ปล่อยละอองเกสรให้ปลิวไปตามลมเพื่อรอการไปตกลงบนเกสรตัวเมีย พืชดอกส่วนมากจะใช้การสร้างกลีบดอกไม้ที่สวยงามฉูดฉาดเพื่อเชิญชวนสัตว์ผสมเกสร (Pollinator) ให้เข้ามาหา และมักจะมีน้ำหวานเป็นเหมือนของตอบแทน ซึ่งหนึ่งในสัตว์ผสมเกสรที่สำคัญที่สุดก็คือแมลง

งานวิจัยล่าสุดในวารสาร PNAS เมื่อกลางเดือน พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมานี้ เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยแห่งสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน ซึ่งประกาศการค้นพบหลักฐานทางฟอสซิลเก่าแก่ที่แสดงให้เห็นว่า แมลงช่วยผสมเกสรดอกไม้มานานถึง 99 ล้านปีก่อน (กลางยุคครีเตเชียส) โดยฟอสซิลดังกล่าวฝังอยู่ในก้อนอำพันที่ถูกค้นพบในเหมืองแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของประเทศเมียนมาร์ (ใครที่ติดตามข่าวงานวิจัยบ่อยๆอาจรู้ว่าแหล่งอำพันดังกล่าวเป็นแหล่งเดียวกับที่มีการค้นพบแอมโมไนต์เก่าแก่ เมื่อต้นปี ค.ศ. 2019)
การผสมเกสรโดยแมลงนั้นเป็นกุญแจสำคัญในการกระจายพันธุ์อย่างรวดเร็วของพืชดอก ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ 145-66 ล้านปีก่อน พูดง่ายๆว่าพวกมันมีวิวัฒนาการร่วมกัน (coevolution ) มาอย่างยาวนาน จนแทบจะขาดกันและกันไม่ได้ แต่ยังไม่มีการค้นพบหลักฐานที่ชัดเจนมายืนยัน ก่อนหน้านี้มีการค้นพบการผสมเกสรในช่วงกลางของยุคอีโอซีน (Eocene) ราว 48-38 ล้านปีก่อน งานวิจัยล่าสุดนี้จึงนับเป็นหลักฐานการผสมเกสรที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบกันมา

แมลงที่อยู่ในก้อนอำพันอยู่ในตระกูลด้วง (Angimordella burmitina) ที่มีขนาดเล็กเพียง 4 มม. บริเวณขามีละอองเกสรตัวผู้ติดอยู่ ลำตัวของมันมีลักษณะโค้ง เหมาะสำหรับการไต่ตอมเข้าไปในดอกไม้ ลักษณะของปากและขาก็เหมาะสมกับการเก็บและนำพาละอองเกสรคล้ายกับเหล่าด้วงที่เป็นแมลงผสมเกสรในยุคปัจจุบัน
ทีมนักวิจัยกล่าวว่า “การค้นพบตัวอย่างฟอสซิลแมลงและละอองเกสรพร้อมกันแบบนี้ยากมาก
ส่วนหนึ่งเพราะละอองเกสรโบราณเล็กจิ๋วนั้นเป็นสิ่งที่มองหาได้ยาก แต่โชคดีที่ละอองเกสรเหล่านี้จะเรืองแสงภายใต้แสงฟลูออเรสเซนต์”

นักวิจัยต้องใช้กล้องจุลทรรศน์แบบ confocal laser microscopy ในการศึกษามัน เพราะกล้องจุลทรรศน์ประเภทนี้มีเทคนิคช่วยเพิ่มกำลังการแยกภาพและค่าความเปรียบต่าง(contrast) ของภาพทำให้นักวิจัยสามารถแยกแยะรายละเอียดของสิ่งที่กำลังศึกษาได้เป็นอย่างดี

การวิเคราะห์ละอองเกสรพบว่าโครงสร้างของละอองเกสร (ขนาด พื้นผิว และลักษณะการเกาะกันเป็นก้อน) บ่งชี้ว่ามันวิวัฒนาการมาให้ถูกแพร่กระจายด้วยการติดไปกับแมลง ซึ่งเกสรดังกล่าวคาดว่าจะมาจากพืชใบเลี้ยงคู่ซึ่งพบเห็นทั่วไปในยุคนั้น

หากสังเกตให้ดีจะพบว่ากว่านักวิจัยไปถึงข้อสรุปว่า ฟอสซิลที่ค้นพบนี้เป็นแมลงผสมเกสร
พวกเขาต้องศึกษาทั้ง สัณฐานของแมลง และละอองเกสรอย่างละเอียดรัดกุม ไม่ใช่แค่เห็นแมลงกับละอองเกสรอยู่ในฟอสซิลเดียวกันก็รีบเข้าสู่ข้อสรุป เพราะเกสรเหล่านี้อาจบังเอิญเข้ามาอยู่ในฟอสซิลก้อนเดียวกับแมลงก็ได้

การค้นพบนี้ เป็นหลักฐานสำคัญแสดงที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างแมลงและพืชดอกที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ทุกวันนี้ การใช้สารฆ่าแมลงและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปโดยน้ำมือมนุษย์ กำลังส่งผลต่อแมลงผสมเกสรหลายอย่างจนน่ากังวล ซึ่งเราได้แต่หวังว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่เกิดขึ้นมาบนโลกได้ราวๆ สองแสนปีไม่ควรมาทำลายความสัมพันธ์อันยาวนานเหล่านี้ลง เพราะสุดท้ายผู้ที่จะได้รับผลกระทบเหล่านี้ก็คือ มนุษย์อย่างเราๆนั่นเอง

อ้างอิง
https://phys.org/news/2019-11-fossil-physical-evidence-insect-pollination.html
https://www.pnas.org/content/early/2019/11/05/1916186116
https://www.sciencemag.org/news/2019/11/amber-encased-beetle-may-have-been-one-first-insects-pollinate-flowers
https://www.pnas.org/content/116/23/11345
https://www.britannica.com/animal/tumbling-flower-beetle
https://www.sciencedirect.com/topics/biochemistry-genetics-and-molecular-biology/confocal-microscopy

Date

December 2, 2019

Category

STEM NEWS