ผึ้งเป็นแมลงที่มีความสำคัญต่อมนุษย์และระบบนิเวศอย่างมากเพราะพวกมันทำหน้าที่ผสมเกสรทำให้เกิดผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดจากผึ้งยังใช้สำหรับการอุปโภค บริโภคและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจทั้งในด้านสุขภาพ ความงามและยารักษาโรคด้วย
ผึ้งเป็นสัตว์ที่มีรูปแบบการสื่อสารกันในกลุ่มที่เป็นเอกลักษณ์ การทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบทำให้สังคมของผึ้งเจริญเติบโตและขยับขยายออกไปได้
น่าเศร้าที่ ผึ้งนั้นไม่ใช่แมลงศัตรูพืชแต่ก็ได้รับผลกระทบจากยาฆ่าแมลง เนื่องจากผึ้งงานที่ออกจากรังไปหาอาหารมีโอกาสสัมผัสกับยาฆ่าแมลงผ่านอาหาร เช่น น้ำหวานหรือเกสรดอกไม้ที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในแปลงเกษตร
ล่าสุด ทีมนักวิจัยนำโดย James D. Crall เลือกศึกษาผลกระทบของยาฆ่าแมลงกลุ่ม นีโอนิโคตินอยด์ (Neonicotinoid) แล้วรายงานผลลัพธ์ที่ได้ในวารสาร Science ซึ่งเป็นวารสารวิชาการที่มีชื่อเสียง
ก่อนหน้านี้สารประเภทนิโคตินเคยถูกใช้เป็นสารกำจัดแมลงมาก่อน แต่ไม่เป็นที่นิยมเพราะมีความเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมด้วย ทำให้ต่อมาสารในกลุ่ม นีโอนิโคตินอยด์ ถูกพัฒนาขึ้นให้ออกฤทธิ์โดยตรงต่อระบบประสาทส่วนกลางของแมลงและไม่ค่อยเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ปีก ยาฆ่าแมลงกลุ่มนี้กำจัดแมลงศัตรูพืชได้ผลดีเมื่อแมลงสัมผัสถูกหรือกินเข้าไปจะทำให้เป็นอัมพาตและตายในที่สุด หลังเริ่มมีการใช้ในช่วงกลางปี ค.ศ.1990 ก็ได้รับความนิยมจนในปัจจุบันมีใช้อย่างแพร่หลายในพื้นที่เกษตรกรรมทั่วโลกทั้งในรูปผสมน้ำสำหรับฉีดพ่นต้นพืชและเคลือบรักษาเมล็ดพันธุ์พืช
หลายงานวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า นีโอนิโคตินอยด์ ลดทอนพฤติกรรมทางสังคมของผึ้ง ซึ่งงานวิจัยล่าสุดนี้ได้ช่วยยืนยันข้อสรุปดังกล่าวโดย นักวิจัยนำผึ้งงาน (ชนิด Bombus impatiens) มาแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มควบคุมให้น้ำหวานธรรมดา และอีก 2กลุ่มทดลองให้นีโอนิโคตินอยด์ผสมกับน้ำหวานในสัดส่วนหนึ่งในพันล้านส่วนและหนึ่งในหมื่นล้านส่วนโดยนักวิทยาศาสตร์ใช้การทาสีขาวไว้บนหลังผึ้งที่ไม่ได้รับยาฆ่าแมลง ส่วนผึ้งที่ได้รับยาฆ่าแมลงจะถูกทาสีดำไว้บนหลังของมัน
จากนั้นนำผึ้งทั้ง 2 กลุ่มเลี้ยงแยกกันตามกล่องที่มีสังคมผึ้งอาศัยอยู่ แต่ละกล่องจะติดตั้งเครื่องมือวัดอุณหภูมิและกล้องตรวจจับที่ควบคุมโดยหุ่นยนต์เพื่อติดตามบันทึกพฤติกรรมประจำวันของพวกมันเป็นเวลา 12 วัน
ผลการศึกษาพบว่าผึ้งงานที่ได้รับน้ำหวานผสมนีโอนิโคตินอยด์ มีพฤติกรรมหลายอย่างที่เปลี่ยนไปจากกลุ่มควบคุมภายใน 24 ชั่วโมง เช่น พวกมันมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมลดลง ขาดความกระตือรือร้นในการหาอาหาร ไม่ช่วยควบคุมอุณหภูมิภายในรัง รวมทั้งไม่สร้างฝาขี้ผึ้งครอบรังซึ่งมีประโยชน์ในการรักษาอุณหภูมิเมื่ออากาศเย็นเกินไป โดยเฉพาะผึ้งงานกลุ่มที่ได้ นีโอนิโคตินอยด์ความเข้มข้นมาก (หนึ่งในพันล้านส่วน)มักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ริมๆ ขอบของรังโดยไม่สนใจดูแลตัวอ่อนและผึ้งนางพญาซึ่งอยู่ตรงกลางรังพฤติกรรมนี้จะแสดงออกมากขึ้นในช่วงกลางคืน ทำให้นักวิจัยทราบว่านีโอนิโคตินอยด์ นั้นส่งผลให้นาฬิกาชีวิตของผึ้งงานผิดเพี้ยนไปจากเดิม
นอกจากนี้การตรวจวัดอุณหภูมิในรังผึ้งก็แสดงให้เห็นว่า แม้อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมภายนอกจะเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันมาก แต่อุณหภูมิในรังของผึ้งกลุ่มควบคุมจะมีความคงที่สม่ำเสมอ โดยเมื่ออุณหภูมิลดลงผึ้งงานจะขยับปีกสร้างความร้อนเพิ่มขึ้นและเมื่ออุณหภูมิต่ำลงพวกมันจะช่วยกันกระพือปีกระบายความร้อนที่สะสมอยู่เพื่อปรับอุณหภูมิให้พอเหมาะกับการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในรังผึ้ง แต่ในรังของผึ้งงานที่ได้รับยาฆ่าแมลงจะไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของรังให้มีความเสถียรได้ ตัวอ่อนที่ได้รับอุณหภูมิไม่คงที่จะอ่อนแอส่งผลต่อสุขภาพของประชากรผึ้งรุ่นถัดไปด้วย
ผลการทดลองนี้ยืนยันว่าแม้ยาฆ่าแมลงจะช่วยเกษตรกรควบคุมกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ดี แต่ก็ส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงต่อผึ้ง แม้พวกมันจะได้รับยาฆ่าแมลงเพียงเล็กน้อยก็ทำให้พฤติกรรมทางสังคมถดถอยเป็นผลให้ประชากรในรังอ่อนแอลงก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศและเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาเหล่าผึ้งในการช่วยแพร่กระจายพันธุ์และผสมเกสร
น่ากังวลที่หลายพื้นที่ในโลกยังคงไม่มีการควบคุมการใช้ยาฆ่าแมลงที่ดีพอ ทำให้ประชากรผึ้งในธรรมชาติลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย หากมนุษย์ยังคงดูเบาปัญหานี้ต่อไป ในอนาคตพืชพรรณต่างๆ ที่ต้องอาศัยผึ้งช่วยผสมเกสรอาจลดน้อยลงและบางชนิดอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติก็เป็นได้
บทความโดย อาจวรงค์ จันทมาศ
อ้างอิง:
https://eurekalert.org/pub_releases/2018-11/hu-bot110818.php?fbclid=IwAR1a8GDtrDyKy9Lqdj0JEu_A6HKfk3VW69wQ-RYiZV8X54qOS0HdfKvsC9o
http://science.sciencemag.org/content/362/6415/683