Alienum phaedrum torquatos nec eu, vis detraxit periculis ex, nihil expetendis in mei. Mei an pericula euripidis, hinc partem.
 

อีกา ฉลาดมากกว่าที่คิด เมื่อนักวิทย์พบว่าพวกมันประดิษฐ์อุปกรณ์ได้

อีกา ฉลาดมากกว่าที่คิด เมื่อนักวิทย์พบว่าพวกมันประดิษฐ์อุปกรณ์ได้

ถ้าให้เราลองนึกถึงสัตว์ที่ฉลาดมากๆขึ้นมาสักชนิด

คนส่วนใหญ่มักนึกถึงลิงชิมแปนซีหรือสุนัข แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าอีกาก็เป็นสัตว์ที่ฉลาดมากทีเดียว

ความฉลาดนั้นสามารถวัดได้จากทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งความสามารถในการใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่าอีกาเป็นนกที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาได้อย่างน่าทึ่ง

นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดทดสอบความฉลาดของอีกาพันธุ์ New Caledonian crows ที่จับมาจากป่าจนพบว่าพวกมันสามารถประกอบเครื่องมือขึ้นมาเพื่อใช้แก้ปัญหาอันซับซ้อนได้ โดยงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Scientific reports

นักวิจัยเริ่มต้นจากการวางกล่องใสที่ใส่อาหารอยู่ภายใน ซึ่งข้างกล่องมีช่องเล็กๆเจาะไว้ให้อาหารที่ถูกเขี่ยไถลออกมาข้างนอกกล่อง ส่วนด้านหน้ามีช่องแคบตามแนวยาวของกล่องสำหรับให้สอดแท่งไม้เข้าไปเขี่ย ซึ่งช่องทั้งสองไม่ใหญ่พอที่อีกาจะมุดหัวเข้าไปคาบอาหารออกมาได้

จากนั้น นักวิจัยวางแท่งไม้ที่ยาวพอจะใช้เขี่ยอาหารออกมาได้ไว้ด้านข้างกล่อง เมื่ออีกกาเห็นอาหารในกล่อง พวกมันจึงคาบแท่งไม้นั้นมาสอดผ่านช่องหน้ากล่องเพื่อเขี่ยอาหารออกมากินได้สำเร็จ

การทดสอบที่น่าสนใจจริงๆเริ่มขึ้นตรงนี้

ต่อมานักวิจัยได้วางแท่งไม้ชิ้นสั้นๆ หลายชิ้นที่สามารถนำมาต่อกันได้ไว้ใกล้กับกล่องใส่อาหารเดิมที่พวกมันเคยเห็นมาแล้ว แต่ละตัวได้ลองคาบไม้เพื่อนำมาใช้เขี่ยอาหารจากช่องหน้ากล่องใสนั้น แต่แท่งไม้เหล่านั้นสั้นเกินไป คำถามคือ อีกาจะสามารถแก้ปัญหาด้วยการต่อไม้ 2 ชิ้นเข้าด้วยกันเพื่อให้ยาวพอที่จะเขี่ยอาหารในกล่องออกมากินได้หรือไม่ ?

นักวิจัยออกแบบสถานการณ์เพิ่มความยากของการต่ออุปกรณ์ เป็น 3 ระดับ

เริ่มจากโจทย์แรก ที่มีฐานสำหรับจับยึดแท่งกลวงหรือแท่งสลักไว้ในแนวระนาบ โดยมีความสูงอยู่ในระดับสายตาของอีกา เมื่อพวกมันคาบแท่งอีกชนิดที่วางอยู่บนพื้นขึ้นมาจะสามารถเสียบต่อกับแท่งต่างชนิดกันที่วางบนฐานเพียงแค่ดันตรงๆ ในแนวระนาบให้ต่อกันได้อย่างง่ายดาย

ระดับที่สอง ฐานที่ใช้จับยึดอุปกรณ์จะวางเอียง 45 องศาจากพื้น ซึ่งอีกาที่คาบอุปกรณ์มาต่อจะต้องก้มหัวให้อยู่ในมุมที่พอเหมาะพอดีจึงจะกดอุปกรณ์ทั้งสองชนิดให้ต่อติดกันได้

และระดับสุดท้ายนักวิจัยจะวางแท่งทั้งสองชนิดไว้บนพื้น อีกาที่ต้องการต่อต้องพยายามดันอุปกรณ์ทั้งสองชนิดให้ต่อกันให้ได้บนพื้นโดยไร้ฐานช่วยจับยึด

สิ่งที่น่าทึ่งจากการทดลองนี้ คืออีกา 4 ใน 8 ตัว พยายามสร้างเครื่องมือโดยการนำแท่งไม้สั้นๆเหล่านั้นมาต่อกันซึ่งใช้เวลาเพียง 4-6 นาที จนยาวพอที่จะเขี่ยอาหารซึ่งเป็นรางวัลของพวกมันได้และหนึ่งในนั้นคืออีกาชื่อ แมงโก้ (Mango) ที่สามารถทำเครื่องมือได้ยาวกว่าอีกาในกลุ่มทดสอบตัวอื่นด้วยการนำแท่งไม้ 3-4 ชิ้นมาต่อกัน

การทดลองนี้ยืนยันว่าอีกาเป็นสัตว์ที่ฉลาดมาก มีความสามารถเชิงการแก้ปัญหาที่ยืดหยุ่น มีความจำดีและมีทักษะในการสร้างเครื่องมือได้อย่างรวดเร็ว โดยพวกมันเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตและพยายามพัฒนาการแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ในสถานการณ์จำลองที่มีเครื่องมือให้ใช้อย่างจำกัด โดยที่พวกมันไม่เคยมีประสบการณ์หรือได้รับการฝึกฝนมาก่อนเลย

หากมองการทดลองในเรื่องนี้ในอีกมุมหนึ่ง

ในเมื่อนกตัวเล็กๆอย่างอีกาสามารถพัฒนาทักษะจนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้แล้ว เหตุใด มนุษย์อย่างเราซึ่งมีสมองขนาดใหญ่และซับซ้อนกว่าอีกาไม่รู้กี่เท่า จะท้อแท้และล้มเลิกความตั้งใจในการแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆของชีวิตเล่า

บทความโดย

อาจวรงค์  จันทมาศ

อ้างอิง

https://www.nature.com/articles/s41598-018-33458-z

https://iflscience.com/plants-and-animals/crows-just-flew-through-intelligence-test-previously-thought-only-great-apes-could-pass-/?fbclid=IwAR0I4nOm_CPaDiQ_Fd1j27TECXMVyNYbl_iAaVx7U3x-9W1eOg7CjL3xGh8

Date

December 4, 2018

Category

STEM NEWS