Alienum phaedrum torquatos nec eu, vis detraxit periculis ex, nihil expetendis in mei. Mei an pericula euripidis, hinc partem.
 

“แม่ไม่อุ้ม” ส่งผลร้ายลึกถึงระดับดีเอ็นเอ

“แม่ไม่อุ้ม” ส่งผลร้ายลึกถึงระดับดีเอ็นเอ

คำกล่าวว่า “แม่ไม่อุ้ม” มักใช้กล่าวถึงคนที่ทำตัวไม่ค่อยน่ารัก ชอบเรียกร้องความสนใจเลยเถิดไปถึงการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับกันในสังคม คำกล่าวนี้ไม่ได้เป็นเพียงคำผรุสวาทธรรมดาแต่สามารถโยงไปถึงพฤติกรรมและสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายทางชีววิทยาได้จริงๆ

หนึ่งในลักษณะสำคัญของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมคือการประคบประหงมดูแลลูกๆเป็นเวลานานก่อนที่ลูกจะเติบโตจนถึงวัยที่สามารถใช้ชีวิตในธรรมชาติได้อย่างแข็งแกร่งสาเหตุคือสัตว์กลุ่มนี้ออกลูกมาคราวละไม่กี่ตัวจึงต้องเลี้ยงดูกันอย่างพิถีพิถันผลลัพธ์ที่ได้กลับคืนมาคืออัตราการรอดชีวิตที่สูงเมื่อเทียบกับสัตว์กลุ่มที่ไม่มีการเลี้ยงดูลูกสะท้อนถึงความสามารถในการปรับตัวและเอาตัวรอดในธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

งานวิจัยสุดคลาสสิกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 ของแฮร์รีฮาร์โลว์ (Harry Harlow) คือหนึ่งในข้อพิสูจน์สำคัญว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมต้องการการสัมผัสที่อ่อนนุ่มมากเพียงใดแฮร์รีจัดแจงให้ลูกลิงวอก (Rhesus monkey) อาศัยอยู่กับตุ๊กตารูปทรงคล้ายลิง 2 ตัวตัวแรกมีขนนุ่มๆเลียนแบบแม่ของมันส่วนอีกตัวเป็นเพียงขดลวดแข็งๆแต่มีของล่อใจเป็นน้ำนมที่บรรจุอยู่ในขวดพร้อมดูดแฮร์รีพบว่าลูกลิงเลือกที่จะอยู่กับตุ๊กตาที่มีขนนุ่มตลอดเวลาเมื่อมันหิวก็จะคลานไปดูดนมกับตุ๊กตาขดลวดอิ่มแล้วก็คลานกลับมาอยู่กับตุ๊กตาขนนุ่มตามเดิม

การทดลองของแฮร์รีทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มหันมาสนใจศึกษาความสำคัญของการสัมผัสมากขึ้นโดยเฉพาะผลของการสัมผัสในช่วงที่ยังเป็นทารก

ต่อมา ความรู้ด้านต่อมไร้ท่อได้รับการพัฒนาขึ้นมาตามด้วยการค้นพบโครงสร้างสารพันธุกรรมทำให้ทุกวันนี้นักพฤติกรรมศาสตร์เข้าใจพฤติกรรมของสัตว์ทดลองที่เปลี่ยนไปเมื่อถูกเลี้ยงแยกเดี่ยวในช่วงที่ยังเป็นทารกได้ถึงระดับดีเอ็นเอทำให้นักวิทยาศาสตร์พบว่าหนูทดลองถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวจากแม่ในช่วงสัปดาห์แรกของชีวิตซึ่งไม่ได้รับการเลียขนและจัดแต่งทรงขน (licking และ grooming) เมื่อโตขึ้นจะเกิดความเครียดได้ง่ายอันเกิดจากกระบวนการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมนอกจากนี้ยังมีความจำแย่เพราะเซลล์สมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ที่รับผิดชอบเรื่องการเรียนรู้และความจำตายลงเยอะกว่าปกติ

สิ่งที่น่าประหลาดใจคือปรากฏการณ์เหล่านี้ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมโดยตรงเพราะแม่ของมันก็ไม่ได้มีพฤติกรรมแบบนี้ แต่เมื่อพ้นระยะ 1 สัปดาห์แรกของชีวิตไปแล้วพฤติกรรมและระบบควบคุมการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลเหล่านี้ดูเหมือนจะติดตัวหนูทดลองที่ถูกทอดทิ้งตอนเด็กไปตลอดชีวิตรวมถึงพฤติกรรมไม่ดูแลเอาใจใส่ลูกของตัวเองด้วย! แสดงว่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นตอนแบเบาะนั้นไปส่งผลบางอย่างต่อการทำงานของยีนซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นแบบเดิมได้อีก!

โดยทั่วไปการแสดงออกทางพันธุกรรมเป็นผลมาจากการทำงานของยีนซึ่งสร้างจากรหัสพันธุกรรม A C T G เรียงต่อกันบนสายดีเอ็นเอการเรียงลำดับ A C T G ที่ต่างกันทำให้สิ่งมีชีวิตพันธุ์เดียวกันมีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างกันเหมือนกับที่มนุษย์เราหลายพันธุ์ล้านคนทั่วโลกมีรูปร่างภายนอกนิสัยใจคอและความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆไม่เหมือนกันแต่นักวิทยาศาสตร์พบว่ายังมีกลไกอีกหนึ่งชุดที่ทำให้เกิดความแตกต่างกันในสิ่งมีชีวิตโดยที่ไม่ได้ไปยุ่งกับรหัสพันธุกรรมเลยมันจึงเป็นกลไกควบคุมยีนที่อยู่เหนือพันธุกรรมอีกทีเรียกว่าอีพิเจเนติกส์ (epigenetics)

การศึกษาที่ผ่านมาพบว่าสายดีเอ็นเอในเซลล์สมองของลูกหนูที่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูจะมีสารเมทิล (methyl) มาเกาะมากผิดปกติสารเมทิลทำหน้าที่คล้ายหัวเตาแก๊สที่จะคอยหรี่ไฟให้เบาลงยิ่งมีมากเท่าไหร่การสร้างโปรตีนจากยีนต่างๆก็จะทำได้น้อยลงตามไปด้วย

ถ้ายีนที่คอยยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลมีสารเมทิลมาจับเกาะมากฮอร์โมนตัวนี้จะผลิตขึ้นมาได้มากเพราะขาดตัวยับยั้งการสร้างตัวมันเองจึงเป็นที่มาของการตอบสนองต่อความเครียดที่มากเกินความจำเป็นและส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายในภายหลังนั่นเอง

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับลูกน้อยเมื่อแม่ไม่อุ้ม?

ที่ผ่านมาแม้จะมีงานวิจัยทำนองนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาที่เกิดขึ้นในสัตว์ทดลองอย่างหนูและลิงแต่การศึกษาอีพิเจเนติกส์ในมนุษย์ที่ติดตามผลในระยะยาวนั้นยังมีไม่มากนัก

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียและโรงพยาบาลเด็กบริติชโคลัมเบียประเทศแคนาดาได้ร่วมกันศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นในระดับดีเอ็นเอของเด็กทารกระหว่างกลุ่มที่ได้รับการสัมผัสบ่อยๆกับกลุ่มที่ไม่ค่อยได้รับการสัมผัสโดยร้องขอให้พ่อแม่คอยจดบันทึกความถี่พฤติกรรมของทารกอายุ 5 สัปดาห์ไม่ว่าจะเป็นตอนหลับร้องไห้อารมณ์ดีและตอนที่กินนมรวมถึงคอยจับเวลาด้วยว่าทารกแต่ละคนได้รับการดูแลผ่านการสัมผัสเช่นจับอุ้มและกอดนานเท่าไรในแต่ละวัน

แล้วเมื่อเด็กแต่ละคนมีอายุได้ราวสี่ขวบครึ่งก็ถึงเวลาที่ทีมนักวิจัยจะขอเก็บเซลล์จากเยื่อบุข้างแก้มมาตรวจดีเอ็นเอเพื่อดูว่าการสัมผัสสัมพันธ์กับการเกิดอีพิเจเนติกส์มากน้อยเพียงใด

ผลออกมาพบว่ามียีนอยู่ 5ตำแหน่งที่ได้รับผลกระทบและมีสองตำแหน่งที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันและเมตาบอลิซึมซึ่งจะส่งผลอย่างไรเมื่อเด็กเติบโตขึ้นยังต้องศึกษากันต่อไปนอกจากนี้ การวิเคราะห์เซลล์อย่างละเอียดยังทำให้ทีมนักวิจัยพบอีกว่าเด็กที่ไม่ค่อยได้รับการสัมผัสและเกิดความเครียดขึ้นบ่อยครั้งเช่นถูกปล่อยทิ้งไว้ให้ร้องไห้นานๆโดยไม่มีคนมาดูแลอาจนำไปสู่สุขภาพที่ย่ำแย่ในอนาคตได้

การแสดงออกซึ่งความรักที่เริ่มต้นตั้งแต่ยังเป็นทารกนั้นเป็นสิ่งสำคัญและส่งผลลึกซึ้งถึงระดับดีเอนเอเลยทีเดียว

 

ที่มา

http://www.med.ubc.ca/holding-infants-or-not-can-leave-traces-on-their-genes/

Date

January 2, 2018

Category

STEM NEWS