“แผ่นน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ไม่ใช่แค่ละลายเพิ่มขึ้น แต่มันละลายเร็วขึ้นจนเราไม่อาจคาดการณ์ได้”
Luke Truselนักวิทยาธารน้ำแข็งแห่ง Rowan University ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายสำนักหลังจากที่คณะวิจัยของเขาตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นล่าสุดเกี่ยวกับการละลายของธารน้ำแข็งที่เกาะกรีนแลนด์เมื่อปลายปี 2018 ที่เพิ่งผ่านมานี้
กรีนแลนด์(Greenland) เป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของโลก มีอาณาบริเวณกว่าสองล้านตารางกิโลเมตรและถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งเกือบทั้งปี แต่หลายทศวรรษที่ผ่านมา เกาะสีขาวที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้กำลังถูกภาวะโลกร้อนคุกคามอย่างหนักจนทำให้พื้นน้ำแข็งของมันเปลี่ยนสภาพเป็นธารน้ำจืดปริมาณมหาศาลไหลลงมหาสมุทร!
Trusel และคณะได้เดินทางไปยังตอนกลางฝั่งตะวันตกของเกาะกรีนแลนด์เมื่อปี ค.ศ.2014 และ 2015 เพื่อศึกษาอัตราการละลายของน้ำแข็งบนกรีนแลนด์ในปัจจุบัน รวมถึงศึกษาอัตราการละลายของน้ำแข็งในอดีตตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 จากตัวอย่างแกนน้ำแข็ง(Ice Cores) ที่ขุดเจาะได้ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 6,000 ฟุต
ชั้นน้ำแข็งหนา ๆ ที่เราเห็นเกิดจากหิมะที่ตกทับถมกันแล้วแข็งตัวเป็นชั้นๆคล้ายกับขนมชั้น ซึ่งในแต่ละปีจะมีช่วงเวลาที่หิมะตก จับตัวแข็ง ละลาย และแข็งตัวใหม่เมื่ออุณหภูมิลดต่ำลง นักวิทยาศาสตร์สามารถคาดคะเนสภาพแวดล้อมในอดีตได้จากการเจาะชั้นน้ำแข็งแล้วดึงขึ้นมา แกนน้ำแข็งที่ขุดเจาะได้จะมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกยาว ซึ่งแต่ละชั้นของแกนน้ำแข็งจะมีสีและองค์ประกอบแตกต่างกัน
ช่วงเวลาที่มีการละลายมาก ชั้นน้ำแข็งที่แข็งตัวหลังการละลายมักจะหนาและมีตะกอนกับฟองอากาศปะปนอยู่ ส่วนช่วงเวลาที่มีการละลายน้อย ชั้นดังกล่าวจะค่อนข้างบาง
ถ้าหากชั้นบรรยากาศของโลกในช่วงเวลานั้นเต็มไปด้วยฝุ่นควัน(อาจเป็นฝุ่นควันจากไฟป่าหรือภูเขาไฟระเบิด) ฝุ่นควันเหล่านี้สามารถตกสะสมบนพื้นน้ำแข็งแล้วโดนหิมะคลุมทับอีกชั้นหนึ่งได้เช่นกัน สาเหตุนี้เองที่ทำให้สีของแกนน้ำแข็งแต่ละชั้นมีความแตกต่างกัน นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถอนุมานได้ว่าแต่ละชั้นของแกนน้ำแข็งเปรียบเสมือน “เครื่องบันทึกสภาพแวดล้อมและเหตุการณ์ในอดีต” นั่นเอง
คณะวิจัยของ Truselได้ทำการวิเคราะห์ชั้นต่าง ๆ ของแกนน้ำแข็งที่มีร่องรอยของการละลาย พวกเขาพบว่าอัตราการละลายของน้ำแข็งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับอัตราการละลายในศตวรรษที่ 20 และคิดเป็น 50% เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม โดยอัตราการละลายของน้ำแข็งมีค่าสูงมากเป็นประวัติการณ์ในรอบ 350 ปี ทำให้มีน้ำกว่า 600 กิกะตันไหลลงมหาสมุทรอาร์กติก
น้ำปริมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับน้ำในสระว่ายน้ำกีฬาโอลิมปิกจำนวน 240 ล้านสระรวมกัน และทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 3.5 มิลลิเมตรต่อปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.2005 เป็นต้นมา(มีการคาดการณ์ว่าถ้าน้ำแข็งละลายจนหมด จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราว ๆ 7 เมตร)
งานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการหดหายไปของพื้นน้ำแข็งต่างบ่งชี้อย่างชัดเจนว่ามนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หากเราไม่พึงตระหนักและช่วยกันดูแลรักษาโลกตั้งแต่วันนี้
โลกในอนาคตของเราจะมีหน้าตาเป็นแบบไหน เราก็ไม่อาจรู้ ดังเช่นที่ Mary Albert นักวิทยาธารน้ำแข็งซึ่งมีส่วนร่วมในงานวิจัยชิ้นนี้ได้กล่าวเอาไว้ว่า
“การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อพื้นน้ำแข็งเร็วกว่าที่เราคิด และผลกระทบของมันก็ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราคาดคิดเช่นกัน”
บทความโดย อาจวรงค์ จันทมาศ
อ้างอิง
https://phys.org/news/2018-12-greenland-ice-sheet-centuries.html
https://www.dw.com/en/greenland-ice-sheet-melting-at-exceptional-rate/a-46586980