เสียงตอบรับจากคุณครูผู้ผ่านการมีส่วนร่วมกับโครงการในการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ
สาธิต วรรณพบ หรือครูโจ ครูวิทยาศาสตร์โรงเรียนตะกั่วป่า เสนานุกูล จ.พังงา เป็นหนึ่งในครูที่ได้เข้าร่วมอบรมกับโครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ฯ มาตั้งแต่โครงการเริ่มก่อตั้ง ปัจจุบัน ครูโจเป็นครูพี่เลี้ยงของโครงการ และได้เข้าร่วมอบรมกับโครงการอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญที่ว่าครูจะต้องพัฒนาตนเองให้ก้าวทันต่อสถาณการ์ในปัจจุบันที่ครูไม่ใช่มีหน้าที่แค่เพียงสอนให้ผ่านไปเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างให้เด็กได้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 กระตุ้นแรงจูงใจให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ใฝ่รู้แบบคิดวิเคราะห์ และแก้ปัญหาเป็น ติดตัวไปตลอดชีวิต นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
หนึ่งในการอบรมเพื่อพัฒนาครูที่ครูโจได้เข้าร่วมเมื่อเร็วๆ นี้ ได้แก่ การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC ครูโจได้สะท้อนถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการอบรมว่า “แม้ว่าผมจะเข้าร่วมกับโครงการฯ และเป็นครูพี่เลี้ยงของโครงการฯ มาโดยตลอด แต่การสอนในห้องเรียนก็ยังเกิดปัญหาที่ผมเองก็แก้ไม่ได้อยู่หลายต่อหลายครั้ง เพราะครูคนเดียวคงไม่สามารถมองเห็นห้องเรียนได้อย่างรอบด้าน ทำให้ปัญหาที่เราแก้ไม่ได้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่คาใจอยู่ต่อไป ปัญหาหนึ่งที่ผมต้องการหาคำตอบเป็นพิเศษก็คือ แม้ว่าผมจะใช้วิธีการเรียนการสอนตามแบบฉบับของโครงการฯ ทุกกระบวนการ แต่ถึงตอนที่ให้เด็กเขียนรายงานสรุปถึงสิ่งที่เด็กพบจากการทดลอง เด็กกลับไม่สามารถเขียนออกมาได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น”
ณ เวลานั้น ได้มีกิจกรรม PLC ของโครงการฯ เข้ามาพอดี ครูโจจึงใช้โอกาสนั้นได้เปิดห้องเรียนและเชิญครูพี่เลี้ยง และผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นจากโครงการให้เข้ามาร่วมสังเกตชั้นเรียนและวิธีการสอน เพื่อขอคำแนะนำว่าการสอนจะต้องมีการปรับปรุงประการใดที่จะทำให้เด็กเข้าใจ และสามารถเขียนสรุปสิ่งที่เรียนมาได้
การสังเกตชั้นเรียนแบบ PLC เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพภายใต้โครงการนั้น มีการแบ่งหน้าที่ให้ผู้สังเกตการณ์อย่างชัดเจน ในห้องจะมีครูผู้สอน ผู้บันทึก ผู้สังเกต และผู้เชี่ยวชาญ ที่จะทำหน้าที่ที่แตกต่างกัน การทันทึกจะมีแบบฟอร์มที่โครงการออกแบบมาเพื่อให้ผู้บันทึกกรอก เพื่อภายหลังจากจบการสังเกตชั้นเรียน จะได้นำผลการบันทึกนั้นไปสะท้อนให้แก่ผู้สอนโดยวิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสะท้อนจะมุ่งเน้นไปที่แผนการสอน และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนเป็นสำคัญ และไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ครูโดยตรง ซึ่งการสะท้อนจะมีกระบวนการที่เป็นรูปธรรมและมีหัวข้อแนะนำในการสะท้อนเพื่อก่อให้เกิดการปรับปรุงชั้นเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
ครูโจบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดของกระบวนการ PLC ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จอยู่ที่ครูต้องเปิดใจ และต้องอาศัยกระบวนการสะท้อนที่ชัดเจน และมีรูปแบบและหัวห้อในการสะท้อนที่สร้างสรรค์ ครูโจเห็นว่ากระบวนการ PLC ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี และช่วยตอบคำถามที่คาใจของครูได้เป็นอย่างดี โดยคำแนะนำจากครูและผู้เชี่ยวชาญได้ช่วยไขข้อข้องใจของครูโจ แม้ว่าจะแก้ไขไม่ได้เร็วนักหลังจากที่มีการเปลี่ยนแผนและวิธีการสอน แต่การปรับเปลี่ยนต้องอาศัยเวลา เพื่อให้ทั้งครูและเด็กหากระบวนการสร้างความเข้าใจต่อบทเรียนไปด้วยกันอย่างเหมาะสม
ณ ปัจจุบัน ครูโจบอกว่ามีครูจากโรงเรียนเดียวกัน และครูจากโรงเรียนอื่นๆ ให้ความสนใจกระบวนการ PLC เป็นจำนวนมาก สิ่งสำคัญก็คือ ครูจำนวนมากยังไม่มีความเข้าใจกระบวนการ PLC อย่างชัดเจน รวมทั้งยังไม่เข้าใจเป้าหมายของ PLC อย่างชัดเจน แต่เมื่อเข้าใจกระบวนการและเป้าหมายและแนวทางในการสะท้อนแล้ว กระบวนการ PLC จะก่อให้เกิดประโยชน์ที่สูงสุดต่อการพัฒนาครูได้อย่างแท้จริงเหมือนอย่างที่ตนได้สัมผัส