Alienum phaedrum torquatos nec eu, vis detraxit periculis ex, nihil expetendis in mei. Mei an pericula euripidis, hinc partem.
 

สำรวจประสบการณ์ระดับโลกกับนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์จากเวที Young Maker Contest ปี 2

จากจุดเริ่มต้นในความสนใจด้านงานประดิษฐ์และต้องการสร้างสรรค์ผลงานทางนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน แม้ว่าจะต้องผ่านความท้าทายและปัญหาต่างๆ มามากมาย แต่ความมุ่งมั่นอันแรงกล้าก็สามารถทำให้ฝ่าฟันมาได้ พร้อมกับการได้รับรางวัลจากโครงการ Young Makers Contest โดยโครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ในปีที่ผ่านมา

ที่กล่าวมาคือศักยภาพของเยาวชนไทยที่มีโอกาสได้ไปแสดงพลังเมกเกอร์ให้แก่ชาวโลกในงาน Maker Faire Bay Area 2018 มหกรรมแสดงสิ่งประดิษฐ์ของเหล่าเมกเกอร์ระดับโลก ณ เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่        เมกเกอร์เยาวชนไทยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศอย่าง นายเตมีย์ เนตรพุกกณะ และ นายวีระพล บุญจันทร์ นักศึกษาปีที่ 2 จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี เจ้าของรางวัลชนะเลิศสายอาชีวะกับโครงงาน “ทุ่นเตือนภัยร่องนำ้และแนวปะการัง” และ ด.ช.พิวัฒน์ ศุภวิทยา และ ด.ช.ศุภสิทธิ์ พัน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากสายสามัญในโครงงาน “การจัดการจราจรด้วยระบบอิเลคทรอนิคส์”

เยาวชนทั้ง 4 คนได้รับโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ และเปิดประสบการณ์เพิ่มเติมภายในงานจากบรรดาเมกเกอร์รุ่นพี่ระดับโลก ซึ่งทั้ง 4 เยาวชนต่างเห็นพ้องว่าประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมาตั้งแต่ก่อนประกวดจนถึงวันที่ได้เข้าร่วมงานนี้ เป็นการจุดประกายทางความคิดที่ยอดเยี่ยม และยังต่อยอดไปสู่ความคิดสร้างสรรค์เพื่องานนวัตกรรมในอนาคต

“ก่อนการประกวด เราได้ช่วยกันเสนอไอเดียต่างๆ กับทั้งเพื่อนร่วมทีมและอาจารย์ที่ปรึกษา และระหว่างการประกวด ได้เข้าร่วมเวิร์กช็อป ซึ่งเปิดโอกาสให้ได้พูดคุยกับเมกเกอร์ที่มีความชำนาญหลากหลายด้าน เช่น เครื่องยนต์ การเขียนโปรแกรม เป็นต้น ก่อนจะเริ่มการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ โดยมีอาจารย์คอยช่วยให้คำแนะนำ ทั้งทางด้านเทคนิค การพัฒนาผลงาน และการแก้ปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาผลงานไปจนถึงการทดลองใช้งานจริง ทำให้เราได้เรียนรู้ผ่านการลงพื้นที่และลงมือทำจริงกับเมกเกอร์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่สนุกในหลากหลายมิติ ช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นจากเดิม และยังเกิดความภูมิใจที่ตนสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์กับชุมชนและเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันวัฒนธรรมเมกเกอร์ในสังคมไทย และอยากให้น้องๆ หันมาสนใจการเป็นเมกเกอร์มากยิ่งขึ้นครับ” นายวีระพล บุญจันทร์ นักศึกษาปีที่ 2 จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากสายอาชีวะ กล่าว

สำหรับเมกเกอร์เยาวชนเจ้าของนวัตกรรม “การจัดการจราจรด้วยระบบอิเลคทรอนิคส์” ที่นำเอาปัญหาที่พบเจอในชีวิตประจำวันนั้นมาเป็นที่ตั้ง เพื่อลองคิดค้นนวัตกรรมที่จะลดปัญหาลงได้ “โครงงานของเราสะท้อนถึงปัญหาการจราจรของทั้งผู้ปกครองและนักเรียนที่ต้องเจอทุกวัน ทางทีมและอาจารย์ที่ปรึกษาจึงเห็นตรงกันว่าสิ่งนี้คือปัญหาใกล้ตัวที่เราสามารถนำนวัตกรรมมาช่วยบรรเทาและเพิ่มความปลอดภัยได้ ตั้งแต่คิดโครงงานก็พบกับปัญหาหลายๆ อย่าง มีการลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง แต่การได้รับคำแนะนำจากเมกเกอร์มืออาชีพ ได้ร่วมกิจกรรมกับทางโครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ฯ ทำให้ทีมสามารถตีโจทย์ให้แตกและสร้างผลงานได้สำเร็จ สำหรับการได้เข้าร่วมงาน Maker Faire Bay Area 2018 คือการเพิ่มพลังให้ผมและเพื่อนๆ เมกเกอร์เยาวนไทยได้ต่อยอดผลงานของตนเอง การได้มาสัมผัสและเห็นผลงานจริงของเมกเกอร์ทั่วโลกเป็นการเปิดประสบการณ์และได้เรียนรู้ในอีกขั้นที่เชื่อว่าจะสามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของไทยได้ครับ และพวกเราคงจะได้นำเสนอผลงานทางนวัตกรรมเพื่อประเทศของเราในอนาคตครับ” ด.ช. พิวัฒน์ ศุภวิทยา ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากสายสามัญ กล่าว

ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นของโครงการฯ ในการกระตุ้นให้เยาวชนไทยสนใจวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ “สะเต็ม” ทั้งในและนอกห้องเรียนจะสัมฤทธิ์ผลได้ หากทุกภาคส่วนหันมาร่วมมือกันสนับสนุนกิจกรรมในแนวทาง Maker ให้แก่นักเรียนและนักศึกษาทั่วประเทศ ตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อเพิ่มศักยภาพเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และช่วยต่อยอดความสำเร็จให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการประดิษฐ์ขยายวงกว้างผลักดันประเทศไทยสู่สังคมแห่งนวัตกรรม 4.0 ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

Date

September 5, 2018

Category

Beneficiaries