Alienum phaedrum torquatos nec eu, vis detraxit periculis ex, nihil expetendis in mei. Mei an pericula euripidis, hinc partem.
 

“ตอนแรกคิดไว้ว่าคงทำไม่ได้ แต่สุดท้ายมันก็ลอยได้สำเร็จ”

คำกล่าวอันสุดแสนดีใจของ ด.ญ.จิรดา อังเพชร หนึ่งในเยาวชนที่ได้ร่วมกิจกรรม Enjoy Design Challenges ของโครงการเชฟรอน  สนุกวิทย์ฯ ณ มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติปี 2561

แม้ว่าการลองประดิษฐ์จานดาวเทียมในครั้งนี้จะเป็นความท้าทายที่น้องจิรดาต้องก้าวผ่านไปให้ได้ แต่ความมุ่งมั่นและแรงเชียร์จากเพื่อนๆ ก็ทำให้มีแรงในการทำจานดาวเทียมให้สามารถบินได้อย่างสำเร็จ ทั้งการลองผิดลองถูก เรียนรู้จากความผิดพลาด การสังเกตเทคนิคการใช้อุปกรณ์จากเพื่อนๆ ซึ่งทำให้เข้าใจว่าการใช้โฟมชิ้นเล็กๆ ไม่สามารถทำให้จานดาวเทียมลอยได้ จึงเอาโฟมออกและมันก็ลอยได้อย่างไม่น่าแปลกใจ

อุปกรณ์ต่างๆ ที่โครงการฯ เตรียมให้ น้องจิรดาได้ลองนำมาใช้ทั้งหมดเพื่อดูว่าชิ้นไหนสามารถทำงานได้ดีที่สุดเพื่อให้จานดาวเทียมลอยได้ตรงตามเป้าหมาย ซึ่งตรงนี้เองทำให้ได้เรียนรู้ถึงกระบวนการคิดวิเคราะห์และคาดคะเนความเป็นไปได้ และเมื่อการทดลองได้เกิดขึ้น ความผิดพลาดต่างๆ ทำให้ได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการฝึกฝนทักษะไปในตัว

การทดลองกิจกรรม“ดาวเทียมมหาสนุก Soaring Satellites” ของน้องจิรดานั้นอาจจะใช้เวลาไม่มากสักเท่าไหร่ แต่เชื่อได้ว่าน้องได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากการทำกิจกรรมนี้ “เป็นครั้งแรกที่ได้มาร่วมงานมหกรรมวิทย์ฯ ค่ะ รู้สึกตื่นเต้นมาก เป็นคนชอบวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะอยากรู้ถึงผลลัพธ์จากการทดลองค่ะ กิจกรรมในวันนี้ได้จุดประกายให้ตัวเองในการประกอบอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์ในอนาคตอีกด้วยค่ะ” จิรดากล่าวอย่างตื่นเต้น

สำหรับเธอเองวิทยาศาสตร์คือพื้นฐานของทุกอย่างรอบตัว จึงให้ความสนใจเป็นพิเศษกับวิชานี้ และยิ่งได้มารับประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์นอกห้องเรียนอย่างวันนี้แล้ว ยิ่งทำให้อยากเข้าไปค้นหาที่มาที่ไปของศาสตร์นี้ให้มากยิ่งขึ้น “กิจกรรมในวันนี้ทำให้หนูได้เอาความคิดสร้างสรรค์มาใช้อย่างเต็มที่เลยคะ ได้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทั้งเรื่องนำ้หนักของวัสดุต่างๆ ที่ส่งผลต่อการลอยตัวในอากาศ ได้ออกแบบเอง คิดเอง ทดลองเอง ปรับปรุงและพัฒนางานของตัวเอง และที่สำคัญได้รู้ว่าเพื่อนๆ ลุ้นกับเราไปมากขนาดไหน เป็นการมาที่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง และปีหน้าจะไม่พลาดแน่นอนคะ”

กิจกรรมของโครงการฯ ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติไม่ได้เป็นเพียงแค่การให้เด็กๆ ได้มาทำจานดาวเทียมที่ลอยได้หรือแคร่หิมะที่สามารถแล่นได้ในลู่ที่กำหนดเท่านั้น แต่เป็นการเพิ่มพูนการเรียนรู้สะเต็มศึกษานอกห้องเรียน ให้เด็กๆ ได้สนุก ได้ปลดปล่อยจินตนาการ พร้อมสร้างรากฐานการศึกษาที่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง

Date

October 25, 2018

Category

Beneficiaries