ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวกันเป็นประจำว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สามารถเอาชนะมนุษย์ได้ในหลายๆ วงการ ตั้งแต่เกมที่ต้องใช้การวิเคราะห์ขั้นสูงอย่างหมากรุกและโกะ ไปจนถึงเกมออนไลน์สุดฮิต โดตา 2 (Dota 2)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมานี้ ทีมนักวิจัยจากโครงการ Google Health โดยความร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ชั้นนำสามารถสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่เอาชนะทีมแพทย์รังสีวิทยาในการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมจากภาพถ่ายแมมโมแกรมได้เป็นสำเร็จ
มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นอันดับสองในเพศหญิง แค่ในปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา โลกของเราก็มีผู้หญิงเป็นมะเร็งชนิดนี้เพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคน เจ้าก้อนเนื้อร้ายนี้สามารถถูกกำจัดทิ้งไปได้ แต่ปัจจัยสำคัญคือจะต้องค้นพบเสียตั้งแต่เนิ่นๆ
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมผู้หญิงในวัยสูงอายุถึงควรไปตรวจเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม
แมมโมแกรม (mammogram) เป็นภาพฉายรังสีเอกซ์บริเวณเต้านม ซึ่งในสหราชอาณาจักร จะต้องถูกนำไปวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 2 คนเพื่อยืนยันความถูกต้องของการอ่านผล กระนั้นก็ยังคงมีข้อผิดพลาดเสมอ ทั้งการตรวจไม่พบแม้ว่าจะมีก้อนมะเร็งอยู่ (false negative) หรือการลงความเห็นว่าเป็นมะเร็ง แต่จริงๆ แล้วไม่เป็น (false positive)
แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นวินิจฉัยผิดไปในแนวทางใดก็ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบเสมอ
AI เป็นระบบคิดคำนวณ (algorithm) ที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยการเขียนโปรแกรม
มันจะนำข้อมูลปริมาณมหาศาลมาวิเคราะห์และตัดสินใจ ยิ่งเราป้อนข้อมูลที่ถูกต้องให้มากขึ้นเท่าไร มันก็จะยิ่งพัฒนาขีดความสามารถในการวิเคราะห์มากขึ้นเท่านั้น
ทีมนักวิจัยนำโดยสกอตต์ เมเยอร์ แมกคินนีย์ (Scott Mayer McKinney) ได้ร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ชั้นนำ สร้างระบบ AI ขึ้นมา โดยใช้ภาพแมมโมแกรม 25,000 ภาพจากศูนย์คัดกรองในสหราชอาณาจักรสองแห่ง และอีก 3,097 ภาพจากศูนย์การแพทย์ในสหรัฐอเมริกาหนึ่งแห่ง มาทดสอบความแม่นยำของระบบการวินิจฉัย โดยที่ความถูกต้องของการวินิจฉัยจะมาจากการเฝ้าติดตามคนไข้ว่าเป็นมะเร็งจริงหรือไม่ในอีก 3-4 ปีให้หลัง รวมถึงผลจากการตรวจชิ้นเนื้อเยื่อ
ผลปรากฏว่า AI สามารถลดความผิดพลาดแบบ False positive ลงได้ร้อยละ 5.7 ในสหราชอาณาจักรและ 1.2 สหรัฐอเมริกา ส่วน False negative ลดลงไปได้ถึงร้อยละ 9.7 และ 2.7 ตามลำดับ
นอกจากนี้ทีมนักวิจัยยังนำฐานข้อมูลกว่า 465 ตัวอย่างไปให้แพทย์รังสีวิทยาจำนวนหกรายวิเคราะห์แยกกัน เมื่อเทียบกับความสามารถในการวินิจฉัยของ AI ก็พบว่าโปรแกรมนี้สามารถวินิจฉัยได้แม่นยำกว่ารังสีแพทย์โดยเฉลี่ยถึง 11.5% แม้จะมีบางตัวอย่างที่หลุดรอดการตรวจสอบของ AI ไปได้ แต่ประสิทธิภาพการทำงานนับได้ว่าน่าประทับใจ
อย่างไรก็ตาม AI ก็ยังไม่ได้จะมาแย่งงานแพทย์รังสีไปเสียทั้งหมดในตอนนี้
ทีมนักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะนำ AI มาช่วยตัดสินใจเสมือนกับเป็นแพทย์คนที่ 2 โดยที่มีผลการจำลองสถานการณ์มายืนยันว่า รูปแบบการทำงานดังกล่าวจะช่วยลดการใช้อัตรากำลังแพทย์คนที่ 2 ลงได้ถึง 88%
โดมินิก คิง (Dominic King) หัวหน้าทีม Google Health ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
“ช่วยบอกผมหน่อยว่า มีประเทศไหนในโลกนี้ไหมที่งานของหมอไม่ยุ่งวุ่นวาย
พวกเราเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาช่วยสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ทั้งคุณหมอและคนไข้ได้รับผลการวินิจฉัยที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าผลนั้นจะออกมาเป็นเช่นไรก็ตาม”
เมื่อย้อนกลับมาดูงานของเหล่าแพทย์ในประเทศไทยซึ่งหนักหนามากๆแล้ว
การที่ AI เข้ามาช่วยแบ่งเบาไปได้บ้างก็คงจะดีไม่น้อยทีเดียว
อ้างอิง
https://www.sciencealert.com/ai-is-now-officially-better-at-diagnosing-breast-cancer-than-human-experts
https://www.nature.com/articles/s41586-019-1799-6