สมัยก่อน เด็กๆที่ไม่ค่อยดูแลสุขภาพเส้นผม คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเจอกับ ‘เหา’
เหาเป็นแมลงปรสิตที่อยู่คู่กับสัตว์ชนิดต่างๆ มาเป็นเวลาหลายล้านปี ย้อนกลับไปถึงยุคที่โลกยังเต็มไปด้วยสัตว์ขนาดใหญ่อย่างไดโนเสาร์ แต่ก็ยังไม่มีใครพบหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันว่าเหาที่กำลังหากินอยู่กับไดโนเสาร์อยู่นั้นมีสภาพเป็นอย่างไร
เมื่อเดือน ธันวาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยนำโดยไทปิง เกา (Taiping Gao) จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ชีวภาพและศูนย์การศึกษาสหวิทยาการ (College of Life Sciences and Academy for Multidisciplinary Studies) กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ได้ประกาศผลการค้นพบสำคัญผ่านวารสาร Nature Communications ว่าด้วยขนของไดโนเสาร์พร้อมกับเหาที่ฝังอยู่ในก้อนอำพันจากประเทศพม่า
ทีมนักวิจัยศึกษาอำพันสองก้อนจากรัฐคะฉิ่น ประเทศพม่า ซึ่งเป็นแหล่งเหมืองอำพันสำคัญของโลกอัญมณี (และของนักบรรพชีวินวิทยา) โดยก้อนอำพันดังกล่าวมีอายุราว 100 ล้านปี ย้อนไปในสมัยครีเทเชียสยุคกลาง ซึ่งเป็นยุคสุดท้ายของไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ ก่อนที่มันจะสูญพันธุ์ไปเกือบทั้งหมดจากเหตุการณ์อุกกาบาตพุ่งเข้าชนโลก
ภายในก้อนอำพันพบตัวอ่อนเหาชนิดใหม่ทั้งหมด 10 ตัว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อว่า Mesophthirus engeli พร้อมกับขนซึ่งมีลักษณะคล้ายขนนกในปัจจุบันจำนวนสองเส้น ความยาว 12.7 และ 13.6 มิลลิเมตร ตามลำดับ นักบรรพชีวินยังไม่สามารถระบุได้ว่าชนดังกล่าวมาจากไดโนเสาร์ชนิดใด แต่ระบุกว้างๆ ได้ว่าเป็นของพวกซีรูโลซอเรีย (Coelurosauria) ซึ่งไทแรนโนซอรัสเองก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
ที่น่าสนใจคือ หนึ่งในเส้นขนที่พบนั้นมีสภาพไม่สมบูรณ์ ซึ่งความเสียหายนั้นมาจากเหาขนาด 0.20 มิลลิเมตรที่กำลังไต่อยู่บนเส้นขนดังกล่าว สภาพของฟอสซิลเหาค่อนข้างสมบูรณ์ แม้แต่กรามและส่วนที่ใช้ฉีกเคี้ยวก็ยังสามารถนำมาศึกษาต่อได้ หน้าตาของมันละม้ายคล้ายคลึงกับเหาในยุคปัจจุบันที่หากินอยู่กับนก
แม้นี่จะไม่ใช่หลักฐานชิ้นแรกที่แสดงถึงความสัมพันธ์แบบปรสิตกับเจ้าบ้านระหว่างสัตว์ดึกดำบรรพ์ แต่สิ่งที่อยู่ในอำพันก้อนนี้ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่เราพบเหากำลังหากินอยู่กับขนไดโนเสาร์อันโอชะของมัน
ช่วงเวลาของครีเทเชียสยุคกลาง เป็นยุคทองของไดโนเสาร์กลุ่มที่พัฒนาขนขึ้นมาปกคลุมร่างกาย ก่อนที่ลูกหลานของพวกมันจะเริ่มเรียนรู้การบิน และเหลือรอดจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว จนกลายมาเป็นนกในปัจจุบัน เหาซึ่งเป็นปรสิตที่หากินอยู่กับขนนกจึงทวีความหลากหลายมากขึ้นไปด้วย
นักบรรพชีวินมักเปรียบเทียบฟอสซิลว่าเป็นภาพนิ่งจากภาพยนตร์ประวัติศาสตร์สิ่งมีชีวิตบนโลก
การสะสมและค้นพบภาพนิ่งเหล่านี้จะช่วยเติมเต็มความเข้าใจโลกและชีวิตที่มนุษย์เราปรารถนาจะเข้าใจมาโดยตลอด
ข้อมูลจากก้อนอำพันที่ตรึงสภาพเหาและขนนกของมันเอาไว้จนมาถึงตอนนี้ แสดงให้เห็นว่าไดโนเสาร์ร่างกายมหึมาและน่าเกรงขามเองก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเจอกับสิ่งรบกวนอย่างเหาตัวเล็กจิ๋ว
อ้างอิง
https://www.nature.com/articles/s41467-019-13516-4
https://www.iflscience.com/plants-and-animals/feathers-trapped-inside-amber-show-some-dinosaurs-had-a-lice-problem/