คุรุสภาฯ นำแนวคิดการพัฒนาครูจากโครงการ
“Chevron Enjoy Science สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่อนาคต”
สู่การพัฒนาระดับชาติ
“เมื่อผมได้เห็นคะแนนรวมของ O-NET และ PISA จากนักเรียนทั่วประเทศ สิ่งที่สะท้อนออกมาเป็นอย่างแรกคือ เราในฐานะครูต้องปรับปรุงการสอนเพื่อเพิ่มศักยภาพของนักเรียน” นายรัตนศักดิ์ ทองปัญญา ครูวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนวัดแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ
ครูในโรงเรียนขนาดเล็กที่ห่างไกลจากศูนย์กลางไม่มีโอกาสมากพอที่จะเข้าถึงการพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการฝึกฝนการสอนด้วยสื่อ พร้อมคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่นำไปปรับใช้ได้ในบริบทที่หลากหลาย เนื่องจากประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา การนำสิ่งที่ได้จากการสะท้อนในการสอนมาปรับให้เข้ากับบริบทของแต่ละโรงเรียนนั้นจึงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิผล
กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้การพัฒนาครูเป็นวาระเร่งด่วน และเล็งเห็นว่าชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสามารถระดมความคิดของครูในการแก้ปัญหาที่เฉพาะเจาะจงได้ โดยในปี 2560 ได้ออกข้อบังคับให้ครูที่ประสงค์จะมีหรือเลื่อนวิทยฐานะต้องร่วมกิจกรรมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพอย่างต่ำ 50 ชั่วโมงต่อปี เป็นเวลาต่อเนื่อง 5 ปี
นโยบายที่ดีแบบ PLC นี้ หากไม่ได้มีการแนะนำให้ปฏิบัติอย่างถูกวิธีก็ไม่สามารถบรรลุผลลัพธ์ตามประสงค์ได้ และอาจกลายเป็นเพียงกิจกรรมที่ครูทำไปเพียงให้มีคุณสมบัติผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนงานธุรการ แทนที่จะเป็นนโยบายที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทางชุมชนการเรียนรู้
ดังนั้น ภาคการศึกษาควรทำอย่างไรให้ครูได้ประโยชน์และได้พัฒนาจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรม PLC
วันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา (คุรุสภา) ได้ลงนามความร่วมมือกับโครงการเชฟรอนสนุกวิทย์ฯ เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากการสร้าง PLC ที่ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มส่งเสริมและสนับสนุนในหลายปีที่ผ่านมาสู่การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายครูทั่วประเทศ
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา โครงการเชฟรอนสนุกวิทย์ฯ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบ PLC ที่มีขั้นตอนและมีบทบาท ที่ช่วยทำให้ห้องเรียนเปลี่ยนสู่กระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะและกระบวนการเรียนรู้จากการแก้ปัญหา (inquiry and problem-based) “การเปิดห้องเรียน” จึงเป็นเวทีในการทำ PLC ที่มีรากฐานจากการปฏิบัติ (สอน) จริงภายในกลุ่ม
แล้วกระบวนการประกอบด้วยอะไรบ้าง ก่อนอื่นสมาชิกกลุ่มจะกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ แนวคิดหลัก และทักษะของผู้เรียนที่คาดหวังตามหลักสูตร และร่วมกันออกแบบแผนการสอน จากนั้นครูต้นแบบจะสอนตามแผนที่วางไว้ โดยจะมีเพื่อนครูในโรงเรียน ผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาที่เป็นสมาชิกวง PLC ร่วมสังเกตการณ์
เมื่อการสอนในแต่ละชั้นเรียนจบ สมาชิกในวง PLC จะประชุมสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการสอนว่ามีช่วงไหนที่นักเรียนรู้สึกสับสนหรือตื่นเต้นไปกับบทเรียน และครูควรใช้เทคนิคการสอนอะไรที่ทำให้นักเรียนเข้าใจแนวคิดหลักได้ชัดเจนขึ้นหรือมีส่วนร่วมได้ดียิ่งขึ้น เพราะในความเป็นจริงนักเรียนมีความหลากหลาย ทั้งที่เรียนรู้ได้ช้าหรือไม่กล้าแสดงออก การที่ครูได้สะท้อนถึงห้องเรียนที่มีบริบทเฉพาะและมีข้อเสนอแนะที่เจาะจง จะช่วยทำให้เกิดการปรับปรุงการสอนที่นำไปใช้ได้ผลจริง
นายคงสิทธิ์ อิทธิโยภาสกุล ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนไทรทองอุปถัมภ์ จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวเกี่ยวกับการสอนในกิจกรรมการเปิดห้องเรียนว่า “การเปิดห้องเรียนเป็นมากกว่าการเพิ่มมิติในการสอน แต่เป็นการทำให้ครูได้เห็นการพัฒนาความคิดและการวิเคราะห์ ซึ่งหากครูผู้สอนยอมรับผลสะท้อนหรือข้อเสนอแนะจากผู้อื่นหลังการสอนได้ จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียน”
ปัจจุบันโครงการเชฟรอนสนุกวิทย์ฯ ได้สร้างเครือข่าย PLC แล้วกว่า 108 แห่ง ให้แก่ครูทั่วประเทศ โดยร่วมมือกับโรงเรียน 504 แห่ง และมหาวิทยาลัยอีก 15 แห่ง ทั้งนี้
คุรุสภาฯ ได้ร่วมมือกับโครงการฯ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพทั่วประเทศ โดยคุรุสภาฯ ได้จัดงบประมาณกว่า 6.5 ล้านบาท และโครงการฯ ร่วมสมทบทุนอีก 5.5 ล้านบาท โดยเน้นที่
1) การสร้างเครือข่ายครู 2) การสร้างเครือข่ายโรงเรียน 3) การสร้างเครือข่ายระดับเขตพื้นที่ ซึ่งการจัดสรรทุนและสนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นในปี 2563
“ความร่วมมือระหว่างคุรุสภาฯ โครงการเชฟรอนสนุกวิทย์ฯ และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ได้สร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพโดยทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่การวางแผน การวางงบประมาณ การติดตาม และการประเมินผล” ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ เลขาธิการคุรุสภากล่าว
PLC ขับเคลื่อนโดยการสร้างเครือข่ายในระดับพื้นที่ เริ่มตั้งแต่ครู ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา
การพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนนี้สอดคล้องกับโมเดล Networked Improvement Communities (NICs) ของ Bryk, Gomez และ Grunow (2010) ที่มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างเครือข่ายของผู้มีส่วนร่วมที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาเพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน ทดสอบวิธีแก้ปัญหา ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม และนำไปขยายผลในวงกว้าง
การผนึกกำลังของคุรุสภาฯและโครงการเชฟรอนสนุกวิทย์ฯ ในการสร้างสรรค์ PLC และเครือข่ายการพัฒนาโรงเรียนทั่วประเทศ สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนการศึกษาระหว่างรัฐร่วมเอกชนอย่างมีเอกภาพที่มุ่งพัฒนาทักษะวิชาชีพครูโดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายบุคลากรทางการศึกษาสู่การยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
“เทคนิคใหม่ๆ ที่ได้จากกระบวนการ PLC ที่ได้นำมาใช้กับการสอน เป็นการช่วย ‘คลายปม’ ต่างๆ กับนักเรียนได้ดี หากเราสามารถก้าวผ่านความท้าทายและหาคำตอบจากการทดลองได้ ผมเชื่อว่าเราจะสามารถส่งต่อแนวทางสู่ความสำเร็จให้แก่นักเรียนได้เช่นกัน” นายคงสิทธิ์ อิทธิโยภาสกุล ครูคณิตศาสตร์ กล่าวทิ้งท้าย
ES_Newsletter_2019_May_TH