การเกิดผมหงอกจากอาการเครียด ในบันทึกประวัติศาสตร์
เกิดขึ้นกับพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ที่ผมของพระนางหงอกขาวโพลนทั้งหัวชั่วข้ามคืนก่อนที่จะถูกประหารด้วยกิโยตีน จนกลายเป็นที่มาของชื่อกลุ่มอาการมารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette syndrome)
ผลพวงที่ตามมาหลังจากเกิดอาการเครียดนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลทางจิตใจ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับต่อมไร้ท่อ ไปจนถึงเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดมะเร็ง แต่สิ่งที่สังเกตได้อย่างชัดเจนที่สุด นั่นก็คือเส้นผมบนศีรษะ กลับยังไม่ได้รับการศึกษามากนัก
เมื่อปลายเดือนมกราคม ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา ทีมนักวิทยาศาสตร์นำโดยบิง จาง (Bing Zhang) และสวี่หย่าเจี๋ย (Ya-Chieh Hsu) แห่งสถาบันเซลล์ต้นกำเนิดฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยผ่านวารสาร Nature ว่าด้วยการเปิดเผยกลไกของอาการเครียดแล้วผมหงอก ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาอย่างละเอียดทำให้นักวิทยาศาสตร์เห็นภาพใหญ่ตั้งแต่กลไกระดับโมเลกุลจนถึงสิ่งที่แสดงออกทางร่างกายจนสังเกตได้ด้วยตา
นักวิทยาศาสตร์ทราบมานานแล้วว่าความเครียดที่เกิดขึ้นแม้เพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าวก็เพียงพอที่จะส่งผลกระทบต่อร่างกายทุกส่วน ทีมนักวิจัยจึงต้องค่อยๆ ตีวงให้แคบเข้า เพื่อที่จะได้ค้นพบสาเหตุที่แท้จริง โดยผู้ต้องสงสัยรายแรกได้แก่ ระบบภูมิคุ้มกัน
สมมติฐานคือ ความเครียดอาจจะไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้มาโจมตีเซลล์สร้างเม็ดสีในเส้นผมจนกลายเป็นผมหงอก แต่เมื่อทดลองกระตุ้นความเครียดให้เกิดขึ้นกับหนูทดลองที่ไม่มีเซลล์ภูมิคุ้มกัน ขนของหนูก็ยังหงอกได้อยู่ดี
ผู้ต้องสงสัยรายต่อมาได้แก่ ต่อมหมวกไต ซึ่งเป็นตัวหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) เมื่อร่างกายเกิดความเครียด แต่ผลการทดสอบก็ยังเป็นตามเดิม หนูที่ถูกตัดต่อมหมวกไตออก ยังคงเกิดขนหงอกได้
ผู้ต้องสงสัยรายสุดท้าย ได้แก่ ระบบประสาทซิมพาเทติก (sympathetic nervous system)
ความเครียดแบบฉับพลันจะไปกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติกให้ร่างกายตอบสนองแบบ “จะสู้หรือจะหนี” (fight-or-flight response) รูม่านตาจะเบิกโพลง หัวใจเราจะเต้นรัว เหงื่อแตกพลั่ก อันเกิดมาจากเส้นประสาทที่ส่งตรงลงมาจากสมองถึงอวัยวะเป้าหมายโดยใช้สารสื่อประสาทนอร์เอพิเนฟรีน (norepinephrine) เป็นตัวกลาง ซึ่งกลไกที่ว่ามานี้ได้กระตุ้นเส้นผมและเส้นขนของเราด้วย
ความเครียดทำให้เกิดความเสียหายอย่างถาวร
การจะมีเส้นขนหรือผมที่เงางามและดำขลับ จะต้องอาศัยเซลล์ต้นกำเนิดสองชนิด ได้แก่ เซลล์ต้นกำเนิดรูขุมขน (hair follicle stem cell) และเซลล์ต้นกำเนิดเซลล์สร้างเม็ดสีเมลานิน (melanocyte stem cell)
ทีมนักวิจัยทำให้หนูเกิดความเครียดโดยฉีดสารที่ออกฤทธิ์คล้ายแคปไซซิน (สารที่ทำให้เผ็ด) เข้าไป ซึ่งทำให้มีสีขนอ่อนลงอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อตรวจสอบเซลล์สร้างเม็ดสีเมลานินก็พบว่า พวกมันไม่ได้มีจำนวนลดลงเลย
กลับกลายเป็นว่า ระบบประสาทซิมพาเทติกจะหลั่งสารสื่อประสาทนอร์เอพิเนฟรีนมากระตุ้นให้เซลล์ต้นกำเนิดสำหรับเซลล์สร้างเม็ดสีเมลานินเพิ่มจำนวนมากขึ้นและแปลงสภาพไปเป็นเซลล์สร้างเม็ดสีจนหมด ไม่เหลือเซลล์ต้นกำเนิดสำรองไว้สำหรับเส้นขนชุดใหม่อีกต่อไป ทำให้เมื่อขนชุดนี้ร่วงลง ขนชุดใหม่จะกลายเป็นสีขาว เกิดเป็นขนหรือผมหงอกนั่นเอง
เราต่างทราบกันดีว่าสีผิวเราจะคล้ำขึ้นเมื่อไปเจอแสงแดดหรือรังสียูวี เพียงแต่ว่าความเครียดอันหนักหนาสาหัสได้ไปทำให้ร่างกายสร้างเม็ดสีขึ้นมาจนไม่เหลือเซลล์ต้นกำเนิดอีก
พร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์
การค้นพบนี้ได้ขยายขอบเขตความรู้ว่าด้วยความเครียดและปฏิกิริยาของร่ายกายของเราไปอีกขั้นหนึ่ง
“ความเข้าใจว่าเนื้อเยื่อและเซลล์ของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรภายใต้ความเครียด เป็นเพียงก้าวสำคัญก้าวแรกที่จะนำไปสู่การต่อยอดเพื่อการรักษาและฟื้นฟูผลกระทบอันเกิดจากความเครียดในอนาคต” ดร. สวี่หย่าเจี๋ยกล่าวเสริม
สำนักพัฒนาเทคโนโลยี (Office of Technology Development) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ตอบรับสารนี้โดยนำไปจดสิทธิบัตรและมองหาเอกชนมาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งในทางการแพทย์และการเสริมความงาม
ให้เวลานักวิจัยกันอีกสักหน่อย ต่อไปความเครียดอาจจะร้ายกาจต่อร่างกายของเราน้อยลง
อ้างอิง
https://www.nature.com/articles/s41586-020-1935-3