โครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ฯ ผนึกกำลังกับ สอศ. และ สอท. เปิดผลวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาและความท้าทายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยยุค 4.0 พร้อมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาทักษะของบุคลากรสู่แรงงานคุณภาพ
นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจในขณะนี้ เป๊นนโยบายสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นความท้าทายของประเทศที่จะก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากยังขาดแรงงานทักษะ และกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็กยังคงใช้เทคโนโลยีในระดับต่ำกว่า 2.5 จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมควรทบทวนในเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการของทั้งหลักสูตรในการพัฒนาทักษะและบุคลากรคุณภาพที่มีความรู้ความสามารถพร้อมปฏิบัติงานกับเทคโนโลยีขั้นสูงได้
โครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ โดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จับมือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ร่วมยกระดับบุคลากรและนำเสนอปัญหาคุณภาพแรงงานไทย ผ่านผลวิจัยเชิงลึกและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย “ช่างเทคนิคภาคการผลิตรุ่นใหม่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0” ซึ่งได้รับความร่วมมือในการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ซึ่งได้มอบหมายให้สถาบันชิสโฮล์มประเทศออสเตรเลีย (Chisholm Institute Australia) เป็นผู้ดำเนินการวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูล
โดยงานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาและความท้าทายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยยุค 4.0 พร้อมด้วยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดหลักสูตรที่เหมาะแก่การพัฒนาทักษะของบุคลากรเพื่อผลิตแรงงานที่มีคุณภาพได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเป็นการผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมตื่นตัวในการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เชฟรอน สนุกวิทย์ฯ ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว โดยมุ่งพัฒนาครูผู้สอนและบุคลากรสายอาชีพ ด้วยการเติมเต็มพื้นฐานด้านสะเต็ม (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และ คณิตศาสตร์) ผ่านศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ (TVET Hub) เนื่องจากบุคลากรเหล่านี้คือฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมที่เป็นตัวชี้วัดศักยภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต
ในส่วนของข้อเสนอแนะนั้น ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ภาครัฐควรมุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมกลางและเล็ก ควบคู่กันใน 3 ด้าน ได้แก่ การให้ข้อเสนอจูงใจผู้ประกอบการลงทุนเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม 4.0 อย่างจริงจัง และสนับสนุนการพัฒนาฝึกอบรมด้านสะเต็มและเทคนิคเพื่อเร่งพัฒนาทักษะแรงงานให้ก้าวทันความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เป็นการแสดงให้เห็นว่าทักษะของแรงงานที่ตรงกับความต้องการของตลาดเป็นเรื่องสำคัญ และทางสถาบันอาชีวศึกษาเองควรออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เพื่อผลิตช่างเทคนิคที่มีศักยภาพในการปฏิบัติงานในหลากหลายอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวนำ
ทั้งนี้ ผลการวิจัยเชิงลึกและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย “ช่างเทคนิคภาคการผลิตรุ่นใหม่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0” จะถูกส่งมอบให้แก่ผู้วางนโยบายในองค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนของภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณภาพของแรงงานทักษะ และส่งเสริมสะเต็มศึกษาแบบบูรณาการให้แก่นักเรียนในระดับอาชีวะ เพื่อให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจด้านสะเต็มที่สามารถแก้โจทย์ปัญหาพัฒนาโครงงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งทักษะด้านสะเต็มถือเป็นพื้นฐานสำคัญของภาคอุตสาหกรรมปัจจุบัน สามารถดาวน์โหลดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย “ช่างเทคนิคภาคการผลิตรุ่นใหม่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0” ได้ที่ https://www.enjoyscience.kenan-asia.org/en/resources/research-and-findings