สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีบทบาทสำคัญในการผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพที่ได้มาตรฐานและคุณภาพเพื่อสนองความต้องการของประเทศภายใต้แนวคิด “สานพลังประชารัฐ” จึงได้วางแนวทางการผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพทั้งครูและนักเรียนให้เป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการและมีค่าตอบแทนตามสมรรถนะจริง ผ่าน 4 โครงการหลักคือ
1. โครงการปรับหลักสูตร ปวช.’60 ปวส.’61 ซึ่งจะจัดการเรียนการสอนให้อยู่ในรูปแบบการเรียนรู้ผ่านทางโครงงาน (Project Based Learning: PBL) โดยเนื้อหาของหลักสูตรจะเกิดการระดมสมองของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพ สถานประกอบการ สมาคมองค์กรวิชาชีพ สถานศึกษา ศึกษานิเทศ ครูอาจารย์และครูฝึกในสถานประกอบการ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ดูแลเรื่องมาตรฐานและคุณภาพกำลังคน เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) คสช. เป็นต้น ซึ่งหลักสูตรที่ได้จะต้องเป็นที่ยอมรับสอดคล้องกับมาตรฐานสถาบันวิชาชีพและมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมถึงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยหลักสูตรดังกล่าวต้องรองรับความต้องการกำลังคนของประเทศและตลาดแรงงาน
2. โครงการ e-Portfolio เป็นการเปลี่ยนระบบการประเมินผลการทำงานของนักเรียนจากการให้คะแนนที่ผลลัพท์สุดท้ายมาเป็นการให้คะแนนโดยการพิจารณาองค์รวมของผลสัมฤทธิ์ โดยการประเมินสภาพจริงตั้งแต่การสร้างโครงงาน การทำโครงงาน การวิเคราะห์และนำเสนอผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงสมรรถนะที่แท้จริงของนักเรียนแต่ละคนซึ่งนักเรียนสามารถนำ e-Portfolio นี้ไปใช้สมัครงานได้ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนนำไปใช้ในการเทียบสมรรถนะของ คสช.และ กพร. รวมไปถึงการใช้เพื่อประเมินค่าตอบแทนในการทำงานอีกด้วย โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2561
3. โครงการครูเข้มแข็ง เป็นโครงการที่จะนำครูไปสร้างประสบการณ์ในสถานประกอบการจริง ซึ่งจะส่งเสริมให้ครูได้นำเอาความรู้จากนวัตกรรมและการทำงานเชิงพาณิชย์รวมถึงหลักการบริหารจัดการของสถานประกอบการเข้ามาสอดแทรกในการเรียนการสอน รวมทั้งทำให้ครูสามารถพานักเรียนนักศึกษาทำงานได้จริง เพื่อช่วยเพิ่มทัศนคติที่ดีให้กับนักเรียนนักศึกษาที่มองว่าครูรุ่นเก่ามีทักษะสูงแต่มีแนวคิดที่ไม่ล้าสมัย
4. โครงการ Excellent Model School เป็นการพัฒนาสถานศึกษาเฉพาะทาง โดยเน้นให้เป็นวิทยาลัยเน้นนวัตกรรมเชิงลึกระดับพรีเมี่ยมในแต่ละสาขาอาชีพ เช่น วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุดเน้นผลิตสาขาปิโตรเคมี วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์เน้นผลิตสาขาการค้าปลีก เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีสถานศึกษาเฉพาะทางเกิดขึ้นแล้ว 46 สถานศึกษา เป็นเอกชน 14 สถานศึกษา รัฐบาล 32 สถานศึกษา ขณะเดียวกัน สอศ. กำลังคัดเลือกสถานศึกษาที่มีความพร้อมเพื่อยกระดับให้มีมาตรฐานสากลเทียบเท่าเอเชียแปซิฟิก 18 ประเทศ โดยใช้การประเมินตามมาตรฐาน APACC เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การแข่งขันในระดับสากล โดยมีเป้าหมายให้เกิดนวัตกร นักคิด นักวิเคราะห์ นักประดิษฐ์ และนักปฏิบัติระดับฝีมือชั้นสูง อันเปรียบเสมือนหัวจักรที่จะขับเคลื่อนประเทศในอนาคต
การปูเส้นทางสายอาชีพของนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาในประเทศไทยนี้ (Career Path) นอกจากจะทำให้เกิดการผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพแล้ว ยังเป็นหนทางที่จะทำให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ (Entrepreneur) อีกด้วย และยังส่งเสริมให้ครูมีความรู้ที่ทันสมัยและตระหนักถึงความสำคัญเชิงพาณิชย์ รวมถึงการยกระดับมาตรฐานสถานศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ความสำเร็จของแนวทางดังกล่าวจะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐและเอกชน โดยจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบครบวงจร นับตั้งแต่การเปลี่ยนค่านิยมของสังคมที่มักมองว่าอาชีวศึกษาเป็นตัวเลือกอันดับสองที่สำรองไว้สำหรับนักเรียนผลการเรียนไม่ดี เปลี่ยนค่านิยมการให้ผลตอบแทนในการจ้างงานที่ดูจากคุณวุฒิมาเป็นการพิจารณาสมรรถนะของนักเรียน รวมถึงแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสถานประกอบการ ทั้งนี้ สอศ. ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการพัฒนากำลังคนสายอาชีพคาดหวังว่าโครงการสานพลังประชารัฐจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้การผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ และตรงตามความต้องการของสถานประกอบการให้เดินหน้าไปอย่างมีทิศทางที่ชัดเจนและรวดเร็วมากขึ้น