ในปี พ.ศ. 2559 โครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” จึงได้ผนึกกำลังครั้งใหญ่ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และมหาวิทยาลัยในเครือข่าย 18 สถาบัน ดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย (Thailand Children’s University: TCU ) ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสร้างประสบการณ์ให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นได้ร่วมทำกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และพี่เลี้ยงนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก จากมหาวิทยาลัยที่อยู่ในชุมชนของเด็กๆคอยดูแลให้คำแนะนำในการทำกิจกรรม นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมุ่งส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รับแรงบันดาลใจ และมีทัศนคติที่ดีในการทำการทดลองวิทยาศาสตร์ที่สนุก เกิดการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับการพัฒนาทักษะการสังเกต รู้จักตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตนเองเพิ่มขึ้น
ในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ได้คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน LUMA Center ประเทศฟินแลนด์ ที่มีจุดแข็งด้านการเรียนการสอนแบบบูรณาการตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เข้ามาเป็นวิทยากรอบรม “Training the Trainer” ในด้านการจัดกิจกรรม hands on ให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัยในเครือข่าย 18 สถาบัน สวทช. และ สสวท. ให้สามารถเป็นผู้ดำเนินการจัดกิจกรรมให้เด็กในด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และเคมี รวมถึงการนำแนวคิด Project- based-learning และ STEM มาใช้จัดกิจกรรมได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้บุคลากรจะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นกิจกรรมสำหรับเยาวชน โดยประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของสถาบันของตนเองต่อไป
จากการประเมินผลโครงการมหาวิทยาลัยเด็กในระยะสั้น พบว่านักเรียนและผู้ปกครองมีความสนใจและตื่นตัวในอาชีพนักวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งในระยะยาวทางมหาวิทยาลัยเครือข่ายของ TCU มีแผนที่จะทำการวิจัยว่าเด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้เข้าไปเป็นนักวิทยาศาสตร์จริงหรือไม่ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการ Chevron Enjoy Science ที่ใช้สะเต็มศึกษาเพื่อพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นกำลังสำคัญในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้โครงการฯ ยังได้สนับสนุนกิจกรรมการสร้างความตระหนักด้านสะเต็มอื่นๆในรอบปีที่ผ่านมา อาทิ โครงการ “Enjoy Science Careers: สนุกกับอาชีพวิทย์” นิทรรศการเคลื่อนที่ “คาราวานวิทยาศาสตร”์ โครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest, NYSCI Makerspace workshop และ Bangkok Mini Maker Faire โดยในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของโครงการฯ รวม 7,886 คน มีนักเรียนและบุคคลทั่วไปที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ 106,542 คน
จัดอบรมหลักสูตรแอคทีฟฟิสิกส์ สร้างโค้ชวิชาการอาชีวะไทย
ประสบความสำเร็จเกินคาดกับภารกิจในการยกระดับการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการกำลังคนในภาคอุตสาหกรรมของโครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” โดยการจัดอบรมการเป็นโค้ชหรือพี่เลี้ยงทางวิชาการให้กับครูวิทยาศาสตร์ในวิทยาลัยสังกัดอาชีวศึกษา ภายใต้ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ (TVET Hub) ด้วยหลักสูตรแอคทีฟฟิสิกส์ โมดูลความปลอดภัย ครั้งที่ 1
โดยมี ดร.อาเธอร์ ไอเซนคราฟท์ (Dr.Arthur Eisenkraft) ศาสตราจารย์วุฒิคุณสาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยแมตซาชูเสตส์ เป็นผู้นำการอบรมให้แก่คณาจารย์ไทยจากสถาบันต่างๆร่วม 60 คน ในระหว่างวันที่ 10-28 ตุลาคม 2559 ณ โรงแรมรามาการ์เดน กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ภารกิจการดำเนินงานสะเต็มศึกษาสำหรับอาชีวศึกษา (STEM for TVET) ของโครงการฯ ยังได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจรในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โดยได้จัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพแล้วเสร็จ 2 แห่ง มีโรงเรียนอาชีวศึกษาเข้าร่วมเป็นเครือข่าย 15 แห่ง มีคุณครูเข้าร่วมโครงการฯ 156 คน มีนักเรียนได้รับผลประโยชน์ 16,324 คน และมีผู้ใช้แรงงานได้รับผลประโยชน์ 4,060 คน
จากปฐมบท Professional Development Design สู่การขยายผลทั่วประเทศ บรรลุ 5 ศูนย์สะเต็มศึกษา (STEM HUB) ตามเป้าหมาย
ด้วยปณิธานที่มุ่งพัฒนาสะเต็มศึกษา เพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้กับเยาวชนในโรงเรียนขยายโอกาสของไทย ครูถือเป็นกลไกหลักในการทำหน้าที่ผลักดันให้บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว โครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” จึงได้จัดการประชุมวางแผนการจัดกิจกรรมพัฒนาวิชาชีพครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Professional Development Design: PD Design) เพื่อสร้างครูต้นแบบ (Master Teacher) จากนั้นครูต้นแบบจะเป็นผู้ดำเนินการฝึกอบรมเพื่อขยายผลกิจกรรมการพัฒนาวิชาชีพครู (PD Rollout) ซึ่งเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้จากครูต้นแบบไปสู่ครูกลุ่มเป้าหมายในส่วนภูมิภาค อันได้แก่ ขอนแก่น สมุทรปราการ เชียงใหม่ สงขลา และนครศรีธรรมราช ซึ่งทั้ง 2 กิจกรรมนี้ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2559 และ วันที่ 21-28 ตุลาคม 2559 ณ มหาวิทยาลัยที่เป็นภาคีของโครงการฯ
นอกจากนั้น ในแต่ละปีการศึกษา โครงการฯ ยังได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องในทุกระดับอย่างครบวงจร ประกอบด้วยผู้บริหารการศึกษา ครูพี่เลี้ยงทางวิชาการ และนักเรียนผู้ช่วยครู เพื่อสร้างความเข้าใจถึงบทบาทของแต่ละคน พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพซึ่งกันและกัน ด้วยแนวทางนี้ทุกบทบาทจะทำงานสอดคล้องกันในการสร้างแรงผลักดันให้โครงการฯ สามารถบรรลุเป้าหมาย
ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โครงการฯได้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพจนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ จัดตั้งศูนย์สะเต็มศึกษา 5 แห่งจนแล้วเสร็จ โดยมีโรงเรียนที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการฯ ทั้งสิ้น 371 โรงเรียน ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียนแม่ข่าย 77 โรงเรียนทั่วประเทศ นอกจากนั้นโครงการฯ ยังได้จัดการพัฒนาครูต้นแบบ 60 คน และครูพี่เลี้ยง 27 คน