เผ่าพันธุ์มนุษย์ที่กำลังครองโลกอยู่ทุกวันนี้คือ โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens)
พวกเรากระจายเผ่าพันธุ์ไปทั่วโลก พัฒนาเทคโนโลยี แหล่งที่อยู่อาศัย การเกษตร รวมทั้งเครื่องอำนวยความสะดวกมากมาย จนตอนนี้พวกเราเริ่มมองไปยังท้องฟ้าและห้วงอวกาศ
แม้วิทยาการและความรู้ของพวกเราจะก้าวไกลไปมาก แต่ปัญหาหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังหาคำตอบไม่ได้คือ บรรพบุรุษของเราหายไปไหน
โฮโมอีเร็คตัส (Homo erectus) เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่เป็นญาติใกล้ชิดกับมนุษย์เราโดยตรง พวกเขามีสมองที่เล็กกว่ามนุษย์ แต่เผ่าพันธุ์นี้ยืนตัวค่อนข้างตรงจนได้ชื่อว่า erectus ที่หมายถึงตั้งตรง อีกทั้งยังสามารถประดิษฐ์อุปกรณ์อย่างขวานหินได้ด้วย
หลักฐานต่างๆชี้ว่าราวสองล้านปีก่อน โฮโมอีเร็คตัสเดินทางออกจากแอฟริกากระจายมายังเอเชีย และ เมื่อ 1.5 ล้านปีก่อน พวกเขาเดินทางมาถึงเกาะชวา (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน) ในยุคนั้นเกาะชวายังเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ แต่ช่วงเวลาหลักแสนปีก่อน ประชากรเผ่าพันธุ์นี้ลดจำนวนลงจนสูญพันธุ์ไป โดยไม่หลงเหลือชีวิตมาจนถึงปัจจุบันเลย
การสูญพันธุ์ของโฮโมอีเร็คตัสเป็นหนึ่งในเรื่องลึกลับที่ยังไม่มีใครตอบได้อย่างชัดเจน
หนึ่งในกุญแจที่จะช่วยเราสืบสาวหาคำตอบได้คือ การพยายามหาอายุจากหลักฐานฟอสซิลให้แม่นยำที่สุด
ในปี ค.ศ. 1931-1933 นักสำรวจชาวดัตช์ขุดค้นพบฟอสซิลของส่วนของกระโหลกของโฮโมอีเร็คตัส 12 ชิ้น ขาสองชิ้น ปะปนอยู่กับกระดูกสัตว์หลายพันชิ้น ที่บริเวณแม่น้ำโซโล (Solo River) แถบหมู่บ้าน Ngandong เกาะชวา แต่ปัญหาที่เหล่านักสำรวจเผชิญคือ พวกเขาไม่สามารถตรวจวัดอายุของกระดูกเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ
นักวิทยาศาสตร์ในยุคต่อมาก็ไม่สามารถศึกษาไปต่อได้เพราะการหาอายุฟอสซิลให้แม่นยำได้จำเป็นต้องมีเนื้อหินและดินจากแหล่งขุดนั้นมาประกอบ ทว่าหากนับมาจนถึงวันนี้ การขุดล่วงเลยมาร่วม 90 ปีแล้วซึ่งอยู่ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเสียอีก
ความพยายามล่าสุดของ O. Frank Huffman นักโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน ทุ่มพลังห้าปีไปกับการสืบจากหลักฐานรูปถ่ายและบันทึกที่เหลืออยู่ของชาวดัตช์ อีกทั้งยังลงทุนไปสัมภาษณ์เก็บข้อมูลจากเหล่าลูกหลานของนักสำรวจเหล่านั้น จนได้ข้อสรุปว่าแหล่งขุดอยู่ใกล้กับไร่อ้อยแห่งหนึ่ง ในเกาะชวา ซึ่งเมื่อทีมนักวิจัยร่วมไปลองขุดดูก็พบฟอสซิลใหม่ๆเกือบพันชิ้น แต่เป็นของกวาง วัวป่า สเตโกดอน (stegodon) ซึ่งเป็นสัตว์มีลักษณะคล้ายกับช้างโบราณ
เมื่อทำการวัดอายุด้วยกัมมันตรังสีก็พบว่ากระดูกทั้งหมดรวมทั้งโฮโมอีเร็คตัสที่ค้นพบเมื่อนานมาแล้ว ถูกฝังในช่วงประมาณ 108,000-117,000 ปีก่อน ผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature ที่เป็นวารสารวิชาการแนวหน้าของโลก
นี่ถือเป็นข่าวใหญ่ไม่เบา เพราะ นี่คือฟอสซิลโฮโมอีเร็คตัสที่ใหม่ที่สุดที่มีการค้นพบมา กล่าวคือนักโบราณคดีไม่เคยพบเห็นโฮโมอีเร็คตัสที่ใหม่ไปกว่านี้
หากเปรียบเทียบกับการหาเบาะแสของผู้เสียชีวิตในยุคปัจจุบัน ฟอสซิลดังกล่าวนี้อาจเหมือนกับบันทึกกล้องวงจรปิดช่วงเวลาล่าสุดที่เห็นผู้เสียชีวิตยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งนับว่าเป็นหลักฐานสำคัญมาก
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยให้ความเห็นว่าโฮโมอีเร็คตัสอาจจะดำรงอยู่นานกว่าช่วงเวลาที่ได้จากฟอสซิลนี้พอสมควร ซึ่งพวกเขาอาจได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั้งอุ่นและชื้นมากขึ้น เมื่อประกอบกับภูมิประเทศก็เริ่มกลายเป็นป่าฝน อาจทำให้เผ่าพันธุ์โฮโมอีเร็คตัสประสบปัญหามากมายในการดำรงชีวิต และเมื่อมนุษย์อย่างเราเดินทางไปยังเกาะชวาเมื่อ 40,000 ปีก่อน
นั่นอาจเป็นสาเหตุให้โฮโมอีเร็คตัสสูญพันธุ์ไปอย่างสมบูรณ์ก็ได้
ไม่มีใครรู้ว่ามนุษย์เราโหดร้ายถึงขั้นทำให้พวกเขาสูญพันธุ์ได้จริงหรือไม่ แต่หลักฐานที่มนุษย์ปัจจุบันทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆบนโลกสูญพันธุ์ไปมากมาย
ทฤษฎีนี้อาจไม่ถึงกับเลื่อนลอยเสียทีเดียว
อ้างอิง
https://www.sciencemag.org/news/2019/12/ancient-human-species-made-last-stand-100000-years-ago-indonesian-island
https://www.nature.com/articles/s41586-019-1863-2
https://www.sciencedaily.com/releases/2019/12/191218153527.htm
https://www.britannica.com/topic/Homo-erectus/Fossil-evidence
https://www.nhm.ac.uk/discover/homo-erectus-our-ancient-ancestor.html
https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0200497