Alienum phaedrum torquatos nec eu, vis detraxit periculis ex, nihil expetendis in mei. Mei an pericula euripidis, hinc partem.
 

VR ผิวสัมผัส เทคโนโลยีส่งสัมผัสแบบไร้สายใกล้เป็นจริง

VR ผิวสัมผัส เทคโนโลยีส่งสัมผัสแบบไร้สายใกล้เป็นจริง

โทรศัพท์มือถือช่วยให้เราส่งสัญญาณเสียงและภาพด้วยระยะทางไกลได้แบบเรียลไทม์ ซึ่ง ทุกวันนี้เรามองว่าเป็นเรื่องปกติมากๆ แต่เมื่อร้อยปีก่อน ในรุ่นคุณปู่คุณย่าของเรา ใครจะคิดฝันว่าเราจะได้ใช้เทคโนโลยีนี้กัน

คำถามคือ อุปกรณ์ใดจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมนุษย์เราได้เหมือนโทรศัพท์มือถือ

สิ่งหนึ่งที่ นักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งนักลงทุน ร่วมกันพัฒนาอยู่ในตอนนี้คือ เทคโนโลยีวีอาร์ (VR) ซึ่งเป็นการสร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้กับมนุษย์ โดยมีทั้งภาพและเสียง นอกจากจะทำให้เล่นเกมได้สมจริงขึ้นแล้ว มันยังประยุกต์ใช้ด้านการศึกษา การซ้อมรบ การซ้อมผ่าตัด ซึ่งทั้งหมดจะสมจริงยิ่งขึ้น

นอกจากจะพยายามพัฒนาให้วีอาร์มีประสิทธิภาพสูงขึ้นแล้ว นักวิจัยบางส่วนพยายามเพิ่มประสาทสัมผัสอื่นๆลงในวีอาร์ นั่นคือ การรับสัมผัสของผิวหนัง

การรับสัมผัสของผิวหนังนั้นเป็นสิ่งที่ซับซ้อนมาก ผิวหนังเรามันสามารถรับรู้แรงกด ความเจ็บปวด จนถึง อุณหภูมิ ได้เป็นอย่างดี การพยายามกระตุ้นผิวหนังให้ได้ความรู้สึกตามที่ต้องการทุกมิติจึงเป็นเรื่องท้าทายนักวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด

งานวิจัยล่าสุด ในวารสาร Nature เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 ได้สร้างแผ่นอิเล็กทรอนิกส์ที่ทั้งบางและเบาจนนำมาติดไว้กับผิวหนังของคนเราได้ง่ายดาย อีกทั้งยังยืดหยุ่นไปตามสภาพผิวหนังด้วย โดยแผ่นอิเล็กทรอนิกส์นี้จะมีอุปกรณ์เล็กๆเรียกว่า ตัวสั่น ที่สามารถเปลี่ยนไฟฟ้าให้กลายเป็นการสั่นเรียงรายอยู่เป็นแผง ตัวสั่นแต่ละตัวมีน้ำหนักเพียง 1.4 กรัม เส้นผ่านศูนย์กลาง 12-18 มิลลิเมตร (ทีมนักวิจัยพบว่า มันสามารถลดขนาดลงได้อย่างน้อยๆ 3 เท่าในอนาคต )

อุปกรณ์สร้างการสั่นเหล่านี้ประกอบไปด้วย ขดลวดทองแดง และ แม่เหล็กถาวร

หลักการทำงานนั้นเรียบง่าย กล่าวคือ เมื่อไฟฟ้าไหลผ่านขดลวดทองแดง แท่งแม่เหล็กจะเกิดการสั่นด้วยความถี่เดียวกับความถี่ของกระแสไฟฟ้า ที่น่าสนใจคือ ตัวสั่นเหล่านี้มีเสาสัญญาณทำหน้าที่รับพลังงาน ทำให้มันถูกควบคุมและรับพลังงานได้แบบไร้สาย! พูดง่ายๆว่าแผ่นรับสัมผัสนี้ทำงานได้เหมือนอุปกรณ์ไร้สายอย่างโทรศัพท์มือถือ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ หรือ สายไฟในการชาร์จ

เทคโนโลยีกล่าวได้รับการทดสอบว่าปลอดภัยต่อร่างกายตามกฎระเบียบขององค์การอาหารและยา รวมทั้ง คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ เป็นอย่างดี

ขีดจำกัดสำคัญในตอนนี้คือ การรับส่งสัญญาณยังต้องอยู่ในระยะประมาณ 1 เมตร แต่ก็ไมได้เป็นปัญหาอะไรเพราะตรงกับลักษณะการใช้งานของ VR อีกทั้งนักวิจัยยังเสนอความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้งานด้านอื่นๆในอนาคตได้ดังนี้

– หากเราไม่สามารถสัมผัสร่างกายผู้ป่วยที่เป็นโรคบางอย่างโดยตรง เราอาจส่งสัญญาณสัมผัสด้วยการแตะหน้าจอทัชสกรีน เพื่อส่งสัญญาณให้คนอีกคนรับถึงสัมผัสได้โดยไม่ต้องสัมผัสกันจริงๆ

– ผู้ที่มือ(หรือแขนขา)ขาดจากอุบัติเหตุ หลังจากผ่าตัดเพื่อเชื่อมต่อกับมือเทียมแล้ว อาจมีการส่งสัญญาณจากมือเทียมนั้นมายังต้นแขนเพื่อรับสัมผัสเกี่ยวกับรูปทรงของวัตถุนั้นๆ

– ผู้เล่นวีดีโอเกมสวมแผ่นอิเล็กทรอนิกส์ไว้ตามร่างกาย ซึ่งแผ่นดังกล่าวจะกระตุ้นและเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงในเกม

ข้อเสียอย่างหนึ่งของเทคโนโลยีนี้คือ กระแสไฟฟ้าที่ใช้เลี้ยงตัวสั่นแต่ละตัวยังถือว่าค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆทั่วไป นอกจากนี้พลังงานที่สูญเสียในอุปกรณ์จะทำให้เกิดความร้อนซึ่งส่งผลต่อการทำงานของตัวสั่นแต่ละตัว รวมทั้งทำให้ผิวหนังของผู้ใช้งานรู้สึกร้อนและอบอ้าวไปด้วย การระบายความร้อนจึงเป็นโจทย์ที่นักวิจัยต้องจัดการให้ได้ในอนาคต

นักวิทยาศาสตร์หลายคนมองว่าเทคโนโลยี VR ตอนนี้ อาจกำลังเริ่มต้น และกลายเป็นความเป็นไปได้ต่างๆมากมายในอนาคตเหมือนในนิยายหรือภาพยนตร์ที่เราเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงได้อย่างสมบูรณ์

แต่มนุษย์อย่างเราคงต้องเตือนตนเองเสมอว่า โลกเสมือนก็คือโลกเสมือน และมันคงไม่มีทางช่วยให้เราหนีปัญหาจากโลกจริงได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่มาจากใจของเรา

อ้างอิง
https://www.nature.com/articles/d41586-019-03506-3
https://www.independent.co.uk/life-style/gadgets-and-tech/news/virtual-reality-skin-vr-gaming-amputees-a9211336.html
https://www.nature.com/articles/s41586-019-1687-0

Date

December 23, 2019

Category

STEM NEWS